Sustainable Public Procurement...ขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน

1 เมษายน 2567

Sustainable Public Procurement (SPP) หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืน

SPP คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของภาครัฐ ที่นอกจากจะมุ่งให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าในด้านการใช้จ่ายเม็ดเงินแล้ว ยังเป็นการให้ความสำคัญกับปัจจัยในการจัดซื้อจัดจ้าง 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเศรษฐกิจ เช่น รักษาเสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการจ้างงาน ลดต้นทุน ลดความเสี่ยง ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างจากชุมชนท้องถิ่น 2) ด้านสังคม เช่น ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานทาส คำนึงถึงค่าแรง สภาพแวดล้อม และความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน และ 3) ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้ทรัพยากร ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ

การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนคือหนึ่งในเป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs)

United Nations Environment Programme (UNEP) ได้กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ Sustainable Development Goals (SDGs) ทั้งนี้ผลการสำรวจล่าสุดจาก 2022 Sustainable public procurement global review ระบุว่า ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในด้านสิ่งแวดล้อมเพียงด้านเดียว ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ มีการดำเนินนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมควบคู่กันไปแล้ว

การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐอย่างยั่งยืนกับบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากราว 7-9 แสนล้านบาทในช่วงปี 2016-2018 หรือคิดเป็นสัดส่วน 5-6% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ มาสู่มูลค่าราว 1.1-1.3 ล้านล้านบาทในช่วงปี 2019-2022 หรือคิดเป็นสัดส่วน 7-8% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐได้มีการเริ่มดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green public procurement) มาตั้งแต่ปี 2008 แล้ว โดยมีข้อกำหนดให้สินค้าและบริการที่หน่วยงานภาครัฐจะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องได้รับการรับรองด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น วัสดุอุปกรณ์สำนักงาน และวัสดุสิ้นเปลืองที่ได้รับฉลากเขียว การเลือกใช้บริการโรงแรมในการจัดงานสัมมนาที่ได้รับการรับรองใบไม้เขียว นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโครงการก่อสร้างภาครัฐ ยังได้มีการกำหนดคุณสมบัติสินค้าวัสดุก่อสร้าง 3 ชนิด ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ฉนวนกันความร้อน และเหล็ก ที่จะต้องได้รับมาตรฐานรับรองด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

มองไปในระยะข้างหน้า นอกเหนือจากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องขยับเป้าหมายการสร้างความยั่งยืนไปสู่การจัดซื้อจัดจ้างที่มุ่งให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ และสังคมเพิ่มเติม โดยอาจดำเนินการตาม Sustainable Public Procurement Approach (SPP Approach) ที่ UNEP ได้พัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศที่ต้องการขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในระดับประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์ ศึกษากรอบกฎหมาย ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง และระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อหารือแนวทางในการสร้าง Commitment และนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนร่วมกัน รวมถึงกำหนดเป้าหมาย แผนการปฏิบัติ กรอบระยะเวลา บทบาทหน้าที่ของภาคส่วนต่าง ๆ และงบประมาณ ตลอดจนขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติ และปรับปรุงการดำเนินการให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับแก้กฎหมาย การกำหนดประเภทสินค้าและบริการ การกำหนดเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง การสร้างขีดความสามารถ และกลยุทธ์การสื่อสาร ไปจนถึงการสร้างระบบการตรวจสอบ และการประเมินผล

SCB EIC มองว่า การขับเคลื่อนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้มุ่งไปสู่ความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น จะส่งผลทางด้านบวกต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐเอง ที่จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง มีความโปร่งใส ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการบริหารจัดการที่ดี ที่จะนำมาสู่การสร้างความเชื่อมั่น และเพิ่มโอกาสในการดึงดูดการลงทุน จากนักลงทุนทั้งต่างประเทศ และในประเทศ

นอกจากนี้ หากพิจารณาในส่วนของภาคเอกชน จะพบว่า ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ให้ความสำคัญ และมีศักยภาพในการปรับตัวไปสู่การสร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ โดย SCB EIC มองว่า การขับเคลื่อนให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ผ่านการกำหนดประเภทสินค้าและบริการ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง จะเป็นการสร้างดีมานด์สินค้าและบริการที่มีความยั่งยืนจากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการ มีแรงจูงใจในการมุ่งปรับกระบวนการการประกอบธุรกิจ รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในการเข้าประมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการ SMEs มีการปรับตัวตอบโจทย์ไปกับเทรนด์ของโลกที่ต่างมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ และจะนำมาซึ่งการขยายโอกาสทางธุรกิจในตลาดโลกได้อีกมากในระยะข้างหน้า

________
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอตวันที่ 1-4 กุมภาพันธ์ 2024

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/9408

Leave your comment
*
*