10 ธุรกิจ BCG ที่ต้องจับตามอง

13 ธันวาคม 2566

แนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Economy อันชาญฉลาดของประเทศไทย สามารถสร้างความยอมรับในระดับ นานาชาติได้อย่างรวดเร็ว เป็นการผนวกความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ แต่งแต้มด้วยวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเพื่อเป็นคำตอบในการช่วย ควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากยุคก่อน จึงเกิดมาเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากมาย จะขอยกตัวอย่าง 10 นวัตกรรม ที่เข้าสู่วงจรด้านธุรกิจแล้ว ดังนี้

1. RDF : Refuse Derived Fuel

เชื้อเพลิงชีวภาพจากของเสียและวัสดุเหลือใช้ทั้งชุมชนและอุตสาหกรรมที่ไม่อันตราย ปัจจุบันยังอ้างอิงคุณภาพเชื้อเพลิงตาม ASTM ของสหรัฐอเมริกา แต่ในอนาคต เมื่อสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมพิจารณาร่างมาตรฐาน RDF ไทย และประกาศใช้ จะมี RDF ไทยที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อีกด้วย ปัจจุบัน RDF ไม่ใช่เพียงเชื้อเพลิงจากขยะที่คอยป้อนโรงไฟฟ้าขยะอีกต่อไป แต่ได้มีการพัฒนาเป็นระดับพรีเมียม คือ SRF : Solid Recovered Fuel มีความบริสุทธิ์เพียงพอที่จะใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้อีกด้วย

RDF

2. RDF to Fuel

ด้วยการนำ RDF ผ่านกระบวนการ Gasification และผ่านการทำความสะอาดก๊าซแต่งเติมด้วย Catalytic กลั่นเป็นน้ำมัน ท่านสามารถจะเลือกชนิดของน้ำมันที่ต้องการได้หลายชนิด ปัจจุบันมีการผลิตเชิงพาณิชย์แล้วในประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น คนไทยอย่างเราๆ ท่านๆ นั่งรอการเปิดตัวเทคโนโลยีได้ อีกไม่นานเกินรอ

3. Plastics to Oil

น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์จากขยะพลาสติก ซึ่งมีราคาขายปลีก อยู่ที่ 15-20 บาทต่อลิตร ขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขยะพลาสติกจากบ่อฝังกลบและเศษพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้ว สามารถนำมาใช้ผลิตน้ำมันด้วยกระบวนการ Pyrolysis เพื่อเปลี่ยนเป็นน้ำมันสังเคราะห์ใช้แทนน้ำมันเตา (Heavy Oil) เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตอีกด้วย หากมีการคัดแยกและทำความสะอาดพลาสติก เบื้องต้น ขยะพลาสติก 1 ตัน จะได้น้ำมันประมาณ 60-70% จึงคุ้มค่าการลงทุน ส่วนเทคโนโลยีได้มีการพัฒนามากว่า 10 ปีแล้ว จึงค่อนข้างจะมีปัญหาน้อย ข้อควรคำนึงก็คือ ต้องมีการเตรียมการเรื่องแหล่งเชื้อเพลิง ทั้งปริมาณที่เพียงพอและมีให้ใช้ตลอดระยะเวลาอีกด้วย

4. SAF : Sustainable Aviation Fuel

เชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืนที่ผลิตจากทรัพยากรทางชีวภาพ (Biological Resources) ใช้แล้วไม่หมดไป สามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% ก่อนหน้านี้ น้ำมันเครื่องบินได้มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพเพียง 2% เท่านั้น แต่เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปกำลังพิจารณาออกกฎหมาย RefuelEU Aviation Initiative ตามมติคณะรัฐมนตรีแห่งสหภาพยุโรป กำหนดให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2568 จึงได้รับความสนใจจากทุกประเทศทั่วโลก

5. Wood Pellets : Black and White

สถานการณ์ชีวมวลอัดแท่งในประเทศไทยกำลังกลับมาสดใสอีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนก็ว่าได้ จากราคาขายตันละ 2,800 บาท มาสู่ราคา 3,800-4,200 บาท แท้ที่จริงแล้วผู้ซื้อไม่ได้ต้องการใช้แค่เชื้อเพลิง แต่ต้องการเครดิตคาร์บอนของ Wood Pellets อีกด้วย ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้อนุญาตให้ผลิตกว่า 90 โรงงาน แต่มีผู้ผลิตจริงประมาณ 30 โรงงานเท่านั้น โรงงานที่เหลือกำลังรอเวลาที่ราคาและปริมาณความต้องการมากขึ้น ส่วนตลาดต่างประเทศ ญี่ปุ่นดูจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งก็คงต้องต่อรองกันในเรื่องของราคาและเงื่อนไขการส่งออก Wood Pellets ผู้ผลิตไทยยังต้องปรับปรุงเรื่องการขอ “เครื่องหมายผลิตภัณฑ์ไม้จากธรรมชาติ หรือป่าปลูกที่มีการจัดการป่าอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่ยอมรับ” เช่น FSC หรือ PEFC ซึ่งเป็นการรับรองผ่านบุคคลที่ 3 (Third Party Certification) ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าญี่ปุ่นจะมีความต้องการ Wood Pellets เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน ซึ่งผลิตได้เองเพียง 1 ล้านตันต่อปี สำหรับประเทศไทยปัจจุบันผลิตชีวมวลอัดแท่งได้ไม่ถึง 1 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการใช้ภายในประเทศ

6. BIOMASS to Liquid

อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากสามารถตั้งโรงงานผลิตเล็กๆ ในตู้คอนเทนเนอร์ได้ การลงทุนก็ไม่สูงนัก ชุมชนรวมตัวกันก็ลงทุนได้ วัตถุดิบหาง่าย มีสม่ำเสมอ โดยผ่านกระบวนการ Gasification ที่สำคัญก็คือสารเร่งปฏิกิริยาอันเป็นเทคโนโลยีที่ต้องเรียนรู้

7. BIOGAS (ก๊าซชีวภาพ)

เทคโนโลยีพื้นฐานระดับชุมชนของไทยกำลังเปล่งประกายเป็นอัญมณีล้ำค่าในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากวัตถุดิบมาจากของเสียและของเหลือใช้ที่เป็นอินทรีย์สาร อีกทั้งประเทศไทยเป็นเมืองร้อน อุณหภูมิเหมาะสมต่อเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ อากาศของโลกที่แปรปรวน ทำให้การใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นกำเนิดจากของเสียจะทวีความสำคัญมากเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าท่านจะผลิตไบโอแก๊สด้วยเทคโนโลยี Wet Biogas หรือ Dry Biogas จะผลิตเพื่อใช้ความร้อนหรือเพื่อผลิตไฟฟ้า จากวันนี้ไปราคาขายจะถูกบวกด้วยคาร์บอนเครดิต พร้อมด้วยโอกาสการไปสู่เทคโนโลยีอื่นๆ อีกด้วย

8. BIOGAS to Hydrogen

ขณะที่นักวิจัยไทยกำลังมุ่งมั่นวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน จากก๊าซชีวภาพ มีข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีว่า โตโยต้า ร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ผลิตไฮโดรเจนจากก๊าซชีวภาพด้วยการใช้มูลของไก่ โดยจะเริ่มผลิตไฮโดรเจนขนาด 1,000 ลิตรต่อชั่วโมง ที่จังหวัดสมุทรปราการ เป็นโครงการนำร่อง

HTT : Hydro Thermal Treatment
Hydrothermal Treatment

9. HTT : Hydro Thermal Treatment

เทคโนโลยีกลางเก่ากลางใหม่ที่มีการใช้เชิงพาณิชย์มานานได้เวลาขยายการใช้งานในเมืองไทยเพิ่มขึ้นแล้ว HTT เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน ด้วยการใช้แรงดันไอน้ำ+อุณหภูมิ+ ระยะเวลา เพื่อทำให้สารอินทรีย์รวมทั้งพลาสติกกลายเป็นผง จะเรียกว่า RDF ก็คงไม่ผิด ซึ่งนอกจากจะปราศจากมลพิษแล้ว ยังมีค่าความร้อนสูงเมื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงอีกด้วย HTT มีต้นทุนต่ำกว่าเตาเผาและใช้ประโยชน์ได้กว้างกว่า อาจมีจุดอ่อนที่ยังไม่เหมาะกับการใช้ในโครงการขนาดใหญ่ HTT สามารถใช้กับการลอกพลาสติกหุ้มสายไฟออกจากเส้นลวด การจัดการขยะติดเชื้อ และใช้กับชีวมวล โดยไม่ทำให้โลหะหรือแก้วที่ติดอยู่ด้วยกันเสียหาย เนื่องจากใช้อุณหภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียสเท่านั้น ส่วนประกอบหลักของเครื่อง ประกอบด้วย 1. ถังปฏิกรณ์ (Reactor) 2. หม้อไอน้ำ (Boiler) และ 3. ระบบบำบัดน้ำเสียและระบบควบคุมการทำงาน เป็นต้น

10. Electronics Waste

การจัดการซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกิจกองทัพมดของไทย ซึ่งกำลังจะเติบโตขึ้น เมื่อมีเทคโนโลยีที่คุ้มค่าต่อการลงทุนทยอยเข้ามาจากการขอรับการสนับสนุนการลงทุน BOI ได้ทราบว่า มีการขอ BOI เพื่อลงทุนด้าน E-Waste เป็นโรงงานทันสมัยในจังหวัดระยอง เพื่อรองรับการขยายตัวของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับ Zero Waste ไม่มีของเสียไปฝังกลบ

ดังนั้น 10 ธุรกิจข้างต้นจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานความพยายามลดค่า Carbon Footprint ลงจากกระบวนการผลิต และเป็นประตูสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) นอกจากประเทศไทยและอีกเพียงไม่กี่ประเทศในโลกใบเก่านี้เท่านั้นที่สภาพภูมิศาสตร์จะเหมาะสมกับ BCG Economy ท่านผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณเลือกธุรกิจสู่โลกใบใหม่ที่เหมาะสมกับประสบการณ์ ความรู้ และต้นทุนที่ท่านมี แต่อย่าลืมว่า วันนี้โอกาสกับความเสี่ยงเป็นเรื่องเดียวกัน

ความเห็นจากนักวิชาการและภาคเอกชนต่อแนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนา เศรษฐกิจแบบ BCG Economy

รศ. ดร.สุธรรม ปทุมสวัสดิ์
รศ. ดร.สุธรรม ปทุมสวัสดิ์
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ถนนเทคโนโลยีทุกสายมุ่งสู่ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เกิดเป็นนวัตกรรมด้านธุรกิจ ใหม่ๆ มากมายจากทั้งชีวมวล ของเสีย และวัสดุเหลือใช้ที่ใครหลายคนมองข้าม เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมัน ใช้แล้ว (Used Cooking Oil) สามารถพัฒนาให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF : Sustainable Aviation Fuel) การสนับสนุนการต่อยอดความรู้และความร่วมมือการพัฒนาตั้งแต่ระดับนำร่อง ไปสู่การทดสอบเชิงพาณิชย์ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้าน เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงจากฐานชีวภาพได้ และที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมายก็คือ การผลิตไฮโดรเจน ซึ่งได้ผ่านการวิจัยและพัฒนาจนกลายมาเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ภาคเอกชนสามารถ นำไปใช้สู่เชิงพาณิชย์ได้ในเวลาอันใกล้นี้

การใช้ผลผลิตจากการเกษตร รวมถึงของเสียและวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตนั้น นอกจากจะช่วยตอบสนองนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม BCG ของประเทศแล้ว ยังตอบโจทย์การลดการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ที่จะเป็นทางรอดสำคัญให้กับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต อันใกล้นี้ กลุ่มธุรกิจใหม่ (Start Up) ที่เข้ามาช่วงชิงความทันสมัยและล้ำหน้าของเทคโนโลยี และโอกาส ที่เปิดกว้างมากขึ้น ยังคงต้องตระหนักว่า หลายๆ เทคโนโลยีก็ประสบความสำเร็จได้ด้วยความเชื่อ และอีก หลากหลายเทคโนโลยีที่ยังคงต้องมุ่งหน้าพัฒนาต่อไป

เมื่อสังคมพูดถึง “ภาวะโลกร้อน” ผู้ร้ายคนแรกๆ ก็คือ “ขยะ” ถึงเวลาที่เราต้องจัดการขยะอย่างจริงจัง เพื่อรักษาโลกเก่าๆ ใบนี้กันแล้ว แต่ข่าวดีก็คือ ขยะเกือบทุกประเภทสามารถนำมาแปลงเป็นพลังงานเพื่อ ใช้ทดแทนฟอสซิลได้

ทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข
ทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข
อุปนายก สมาคมการค้าพลังงาน ขยะ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด

ปัจจุบันภาคเอกชนได้มีส่วนช่วยภาครัฐทั้งด้านการจัดเก็บและคัดแยกต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน ศูนย์การค้าฯ และด้วยเทคโนโลยี AI และระบบ Logistics ที่ขยายตัวมากขึ้น ช่วยให้การเก็บขยะตามบ้าน และสถานที่ต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และคุ้มค่าในการนำมาคัดแยกและจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิง พลังงาน RDF/SRF ท่ีกำลังจะเป็นเชื้อเพลิงพาณิชย์ตามกฎหมายและมีมาตรฐานอุตสาหกรรมที่สอดคล้อง กับการใช้งานในประเทศไทย เชื้อเพลิงพลังงาน RDF/SRF นี้ สามารถจำหน่ายให้กับโรงงานอุตสาหกรรม ต่างๆ ทดแทนการใช้ถ่านหินอีกด้วย

การใช้เชื้อเพลิงพลังงาน RDF/SRF ช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบ กับการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพประเภทอื่นๆ และมีผลพลอยได้อย่างคาร์บอนเครดิตสูงอีกด้วย การผลิต RDF/SRF นี้ สามารถช่วยลดการฝังกลบขยะอย่างไม่ถูกหลักวิชาการตามนโยบายของภาครัฐ และสามารถ ตอบโจทย์ BCG Model ได้เป็นอย่างดี ช่วยให้การมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป

สมาคมการค้าพลังงานขยะ ยินดีให้ความรู้กับนักศึกษาที่สนใจการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพเป็น หมู่คณะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ณ ปั่นไฟเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ สามารถติดต่อได้ที่ E-mail : wte.association @gmail.com

The 10 Bio-Circular-Green Business which may fruitful in the near future are : 1. RDF : Refuse Derived Fuel, 2. RDF to Fuel 3. Plastics to Oil 4. SAF : Sustainable Aviation Fuel 5. Wood Pellets : Black and White 6. BIOMASS to Liquid 7. BIOGAS (ก๊าซชีวภาพ) 8. BIOGAS to Hydrogen 9. HTT : Hydro Thermal Treatment and 10. Electronics Waste. From the point of view of Assoc. Prof. Suthum Patumsawad, Ph.D., Lecturer, King Mongkut’s University of Technology North Bangkok says that the Bio-Circular-Green business model becomes solid to find the right commercial technologies such as Used Cooking Oil for SAF. The start up companies should pick the right technology to start with because every technologies have their strengths and weakness. Ms.Taksuta Tinsuntisook, Vice Chairman of Waste to Energy Trade Association (WETA) and CEO of Zero Waste Co.,Ltd. says the waste always the first few words to pick up when we talk about the Green House Gas effect. Currently, waste can turn into the RDF/SRF and becomes the coal substitution in power plants. Thailand is going to have the Thailand RDF Standard for future boiler plants to use. These RDF/SRF is one of the keys to support the pathway to Thailand Net Zero commitment. SUMMARIZED BY SUNSHINE S.

Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 120 พฤศจิกายน – ธันวาคม 2566 คอลัมน์ บทความ โดย พิชัย ถิ่นสันติสุข

ที่มา : https://www.greennetworkthailand.com/10-bcg/

Leave your comment
*
*