อียูเตรียมออกกฎหมายบรรจุภัณฑ์และขยะบรรจุภัณฑ์ เน้น 3R – Reduce, Reuse, Recycle

3 ธันวาคม 2566

ในปี 2020 ประชากรยุโรปทิ้งขยะบรรจุภัณฑ์โดยเฉลี่ยประมาณ 177 กก. /คน เพิ่มขึ้นกว่า 20% เมื่อเทียบกับในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในช่วงเวลา 1 ปี ประเทศสมาชิก 27 ประเทศทิ้งขยะบรรจุภัณฑ์รวมกันปริมาณกว่า 79.3 ล้านตัน ซึ่งคาดว่า ภายในปี ค.ศ. 2030 ปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีก 19% โดยเฉพาะปริมาณขยะพลาสติกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 46% แม้ว่ากฎหมายห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (EU Single Use Plastics Directive – EU SUPD) สำหรับผลิตภัณฑ์หลายประเภทมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2564 แล้วก็ตาม 

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างกฎหมายสำหรับบรรจุภัณฑ์ และขยะบรรจุภัณฑ์ฉบับใหม่ (EU legislation on Packaging and Packaging Waste) เพื่อรับมือปัญหาปริมาณขยะบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งเน้น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 

(1) ลดการสร้างขยะ (reduce) กำหนดเป้าหมายให้แต่ละประเทศสมาชิกลดขยะบรรจุภัณฑ์ให้ได้ 15% ต่อประชากร 1 คน ภายในปี ค.ศ. 2040 (เมื่อเทียบกับปี 2018) โดยการห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งสำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคในร้านอาหาร ซองน้ำตาล ซองเครื่องปรุงต่าง ๆ จำกัดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น เช่น พลาสติกห่อผักและผลไม้ ขวดแชมพูและอื่น ๆ ที่ใช้ในโรงแรม 

(2) การนำกลับมาใช้ใหม่ (re-use) ส่งเสริมการใช้ภาชนะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้หรือเติมได้โดยกำหนดว่า 20% ของจำนวนเครื่องดื่มที่สั่งกลับบ้านที่ขายในร้านกาแฟแห่งหนึ่งจะต้องบรรจุในภาชนะที่นำมาใช้ใหม่ได้หรือภาชนะที่ลูกค้านำมาเองภายในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มสัดส่วนเป็น 80% ในปี ค.ศ. 2040 ให้ใช้ขวดแบบเติมได้อย่างน้อย 10% ของปริมาณการขายเบียร์ที่ขายทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2030 และเพิ่มเป็น 20% ในปี ค.ศ. 2040 นอกจากนี้ กฎหมายฉบับใหม่นี้จะทำให้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฉลากบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับไปใช้ใหม่ชัดเจนขึ้น 

(3) การรีไซเคิล (recycle) กำหนดให้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดในตลาดอียูต้องรีไซเคิลได้ภายในปี ค.ศ. 2030 และต้องผ่านหลักเกณฑ์การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ระบบค่ามัดจำบรรจุภัณฑ์ (Deposit Return Scheme: DRS) สำหรับขวดพลาสติกและกระป๋องอลูมิเนียม (ซึ่งบางประเทศยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ได้เริ่มใช้แล้ว) การติดฉลากให้ชัดเจนว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชิ้นควรทิ้งในถังขยะสีใด รวมถึงการกำหนดให้ชัดเจนว่า บรรจุภัณฑ์ประเภทใดต้องย่อยสลายได้เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคแยกขยะ นอกจากนี้ อียูส่งเสริมให้เพิ่มการใช้พลาสติกรีไซเคิล โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำของส่วนผสมจากพลาสติกรีไซเคิลที่ต้องมีอยู่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับกฎหมาย EU SUPD ที่กำหนดให้ขวดพลาสติก PET ใหม่ต้องมีส่วนผสมของพลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 25% ภายในปี ค.ศ. 2025 และเพิ่มเป็น 30% ภายในปี ค.ศ. 2030  

         นอกจากนี้ ร่างกฎหมายใหม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพให้ชัดเจนขึ้น ดังนี้ 

  • พลาสติกฐานชีวภาพ (biobased plastics) หรือ พลาสติกที่มีส่วนผสมหลักจากพืช กำหนดให้ชีวมวล (biomass) ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติกชีวภาพ ต้องมาจากแหล่งยั่งยืนและไม่ทำลายธรรมชาติ และกำหนดให้ผู้ผลิตต้องระบุอัตราส่วนของพลาสติกชีวภาพตามจริง เช่น “สินค้านี้มีส่วนผสมจาก พลาสติกชีวภาพ 50%” เพื่อป้องกันการฟอกเขียว (greenwashing) 
  • พลาสติกย่อยสลายได้ในธรรมชาติ (biodegradable plastics) บังคับให้ติดฉลากระยะเวลาและสภาพแวดล้อมที่จำเป็นเพื่อให้พลาสติกชนิดนี้ย่อยสลายได้ อย่างไรก็ดี สินค้าต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้กฎหมายห้ามใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งจะไม่สามารถติดฉลากดังกล่าว เพื่อป้องกันการทิ้งขยะที่ไม่จำเป็น  
  • พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในระดับอุตสาหกรรม (industrially compostable plastics)  อนุญาตให้ใช้พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมในกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายประสิทธิภาพของเศษอาหาร และเมื่อมีการแยกและจัดการขยะชีวมวลที่เหมาะสม เช่น ถุงชา แคปซูล ถุงกาแฟ สติ๊กเกอร์บนผักและผลไม้ และถุงพลาสติกชนิดบาง โดยต้องมีกลไกการนำกลับมารีไซเคิลและต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่อียูกำหนด

จากแนวทางข้างต้น พบว่า ภาคอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยังมีข้อกังวลบางประการ เช่น พลังงานและน้ำที่ต้องใช้เพื่อทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่า การใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง สินค้าฟุ่มเฟือยจำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม หากต้องเปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวก็อาจนำไปสู่การสูญเสียส่วนแบ่งตลาด เป็นต้น  อย่างไรก็ดี การปรับปรุงกฎหมายบรรจุภัณฑ์นี้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ จากเดิม 66 ล้านตัน เหลือเพียง 43 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030 และลดการใช้น้ำลง 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แม้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งจะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็น่าจะนำไปสู่การสร้างงานใหม่ ๆ และช่วยส่งเสริมเป้าหมายการเป็นกลางทางภูมิอากาศของอียูภายในปี ค.ศ. 2050 ด้วย 

 

โครงการ IMEU

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์

เรียบเรียงโดย ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

ที่มา: https://www.globthailand.com/eu-050123/

ความคิดเห็นของคุณ
*
*