สตาร์ตอัปจากประเทศชิลี กำลังคิดค้นวิธีการรีไซเคิลยางรถยนต์เก่าที่ใช้แล้ว แปรรูปให้กลายเป็นวัสดุสำหรับทำแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หวังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยแก้ปัญหาขยะ และเพิ่มช่องทางการผลิตแบตเตอรี่ที่ยั่งยืนขึ้น
สตาร์ตอัปนี้มีชื่อว่า ที-ไฟต์ (T-Phite) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเอกชนด้านการวิจัยและพัฒนา ซัสเทรนด์ แลบราทอรี (Sustrend Laboratory) ในประเทศชิลีโดยพวกเขาระบุว่าเทคโนโลยีที่บริษัทใช้ เรียกว่า ไพโรไลซิส (pyrolysis) ซึ่งเป็นการใช้ความร้อนสูง เพื่อแยกยางรถยนต์ออกเป็นผลิตภัณฑ์สามส่วน ได้แก่ น้ำมันไพโรไลติก เหล็ก และคาร์บอนดำ
ซึ่งบริษัทจะใช้วิธีการกลั่นคาร์บอนดำที่ได้จากกระบวนการนี้ ให้กลายเป็นคาร์บอนแข็งกราไฟต์ ซึ่งจะคุณสมบัติคือมีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้ดี และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตขั้วลบของแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ใช้ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
โดย แบร์นาร์ดิต้า ดิแอซ (Bernardita Diaz) ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท กล่าวว่าปัจจุบันทั่วโลก มียางรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน รวมแล้วมากกว่า 29 ล้านตันในแต่ละปี ซึ่งเพียงพอที่จะนำไปปกคลุมพื้นที่ของกรุงวอชิงตันดีซี เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีพื้นที่ 177 ตารางกิโลเมตรได้ทั้งหมด
และด้วยเทรนด์การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ปัญหาขยะจากยางรถยนต์นี้เพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูลของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) ระบุว่าแม้อัตราการรีไซเคิลยางรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่แล้วยางหลายร้อยล้านชิ้นที่ถูกทิ้งในแต่ละปี ก็ยังลงเอยในหลุมฝังกลบหรือบนกองหิน
ดังนั้นบริษัทจึงมองว่าด้วยวิธีการนี้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการกำจัดยางรถยนต์ที่ใช้แล้ว ยังช่วยลดความต้องการทรัพยากรธรรมชาติสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามีความยั่งยืนมากขึ้นด้วย
ข้อมูล reutersconnect, sg.news.yahoo