มท.1 นำผู้บริหาร มท. ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะร่วมกับ UN และ ทส. มุ่งมั่นร่วมกันเป็นหุ้นส่วนบริหารจัดการขยะครัวเรือน
วันที่ 5 เม.ย. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติประจำประเทศไทย กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) นางอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเซียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียแปซิฟิก (ESCAP) นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย และทส. (The Success of Thailand’s Waste Bank Partnership Initiative)
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ถือเป็นการรวมตัวของ Partner หรือ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ของเราอีกครั้งหนึ่ง เป็นการนำ Soft Power สู่ Hard Power ด้วยพลังของกระทรวงมหาดไทย ทส. และ UN ประจำประเทศไทย ซึ่งเราได้ร่วมกันทำสิ่งหนึ่งที่สำคัญ จนประสบความสำเร็จ คือ “การจัดตั้งธนาคารขยะครบทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และตนขอย้ำว่า “ความสำเร็จนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย หากปราศจากความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัจจุบันโลกของเราไม่เพียงแต่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “สภาวะโลกร้อน” แต่ความรุนแรงของปัญหานี้ได้ยกระดับไปถึงขั้น “โลกเดือด และหายนะทางสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งในฐานะที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก เราไม่นิ่งนอนใจ เราได้สร้างความร่วมมือกับ UN และ ทส. เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย คือ “การไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050” และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065”
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันปัญหาขยะเป็นวิกฤตสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นวิกฤตโลกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้น การขับเคลื่อนธนาคารขยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นก้าวสำคัญไปสู่การลงมือทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ครบวงจรและยั่งยืน และจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนและทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเซียบานา กล่าวว่า UN มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนร่วมกับประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเราได้ไปลงพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนในระดับภูมิภาค ซึ่งเห็นความสำเร็จได้จาก อบต.โก่งธนู เราได้ไปเยี่ยมชมชาวบ้านและได้เรียนรู้การบริหารจัดการขยะในระดับท้องถิ่น ซึ่งชุมชนต่างมีการบริหารจัดการขยะได้ดีมาก มีการจัดตั้งธนาคารขยะ มีการจัดทำปุ๋ยอินทรีย์จากการถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำมาซึ่งการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการสนับสนุนจาก ธ.กสิกรไทยในรับซื้อคาร์บอนเครดิต อันเป็นตัวอย่างของการที่ประเทศไทยมุ่งมั่นนำแนวทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาใช้อย่างแท้จริง
นางกีตาร์ ซับบระวาล กล่าวว่า วันนี้เป็นการประกาศความสำเร็จของการขับเคลื่อน SDGs โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะตามเป้าหมาย SDGs ซึ่งผู้นำที่มาในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด จึงขอขอบคุณทุกท่านที่ทำงานอย่างเข้มแข็งตลอดมา โดย UN ตระหนักยิ่ง และพร้อมจะร่วมมือขยายผลสิ่งที่ดีให้ทุกชุมชนได้รับประโยชน์จากการการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม นำขยะเปลี่ยนเป็นมูลค่าหมุนเวียนกลับไปพัฒนาชุมชน รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยใช้เทคโนโลยีคิดคำนวณคาร์บอนเครดิต ทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศจะสามารถสนับสนุน และหวังว่าเราจะประสานความร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ร่วมกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนงานด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อที่ 17 “Partnership” ที่ถือเป็นกลไกการทำงานที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ ความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะ รวมถึงความสำเร็จของการมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนในทุกครัวเรือน กระทรวงมหาดไทยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ Key Success ที่สำคัญ คือ “สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ภายใต้การนำของ ดร. วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย” ที่เป็นกำลังสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ในการนำท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดช่วยกันขับเคลื่อนร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีทั่วประเทศ จนทำให้เกิดความสำเร็จ ด้วยพวกเรามีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเจตนารมณ์ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ร่วมกับ UN เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยมีความสุข และหนุนเสริมทำให้เราชาวมหาดไทยมีแรงกระตุ้นและมี “Passion” ในการนำหัวใจของเราไปสู่พี่น้องประชาชน ด้วยการขับเคลื่อนอย่างมีพลังทำให้เกิดความสำเร็จดังที่พวกเราตั้งใจจนเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งการคัดแยกขยะครัวเรือนใน 14 ล้านครัวเรือน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นจุดเริ่มต้นของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับสนับสนุนรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากธนาคารกสิกรไทย จำนวน 3,140 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมมูลค่า 816,400 บาท ตลอดจน บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ และองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุน ทำให้ปัจจุบันเราได้จำหน่ายคาร์บอนเครดิตแล้วกว่า 2.5 ล้านบาท โดยมี UN ประจำประเทศไทยเป็นกำลังใจให้เราชาวมหาดไทย ขับเคลื่อนโดยนำต้นแบบของการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ไปสู่การจัดตั้งธนาคารขยะ ในจำนวน 7,849 อปท. ปัจจุบันเราสามารถจัดตั้งธนาคารขยะ 14,658 แห่ง ครบทุก อปท. ทำให้ทุกหมู่บ้านใน 878 อำเภอ 76 จังหวัดมีตัวอย่างที่ดี “Best Practice” ขยายผลไปสู่หมู่บ้านครัวเรือนเพิ่มเติม
“นับจากนี้อีก 6 ปี เราคาดว่าเงินรายได้จากขยะรีไซเคิล จะเกิดขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรียกได้ว่าเราได้เข้าสู่ Circular Economy ภายใต้การขับเคลื่อนของชาวมหาดไทย จึงขอขอบคุณทุกท่านอย่างยิ่ง แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ ทำให้ทุกท่านมีจิตสำนึกในการรักษาโลกใบเดียวนี้ของเราไว้อย่างยั่งยืน ดังนั้น การประกาศความสำเร็จในวันนี้ อปท. ทั่วประเทศจึงภาคภูมิใจได้ว่า เราทุกคนได้เป็นพลเมืองดีของโลก ทั้งการคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ตลอดจนร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดสิ่งที่ดี ถ่ายทอดสู่ลูกหลาน ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ผู้บริหาร อปท. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคีเครือข่าย ดำเนินการตามหลัก 5P หรือ SDGs 17 เป้าหมาย เพื่อทำให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และทำให้โลกใบเดียวของเรายังคงสวยงาม ขอยืนยันว่าความสำเร็จ “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” เป็นจริงแล้วในวันนี้”นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า ขอขอบคุณพี่ ๆ น้อง ๆ ผู้อุทิศแรงกายแรงใจ ในการ Change for Good ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำให้ภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขบังเกิดผลสำเร็จ โดยมีจังหวัดต้นแบบ 4 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ลพบุรี ลำพูน และเลย ทั้งนี้ ภารกิจของพวกเราครอบคลุมทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ โดยสิ่งที่เป็น Masterpiece of Success เกิดขึ้นได้เพราะเรามี “ผู้นำที่ดี” ดังเช่นทุกคนที่มาร่วมกันในวันนี้ ผู้มีความมุ่งมั่น เข้มแข็ง และกล้านำสิ่งที่ดีไปสู่พี่น้องประชาชนตามแนวทาง “ผู้นำต้องทำก่อน” อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่จะต้องทำ คือ ทำให้ทุกพื้นที่ได้ช่วยกันทำให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ด้วยการนำเอาแนวทาง Masterpiece ไปขับเคลื่อนขยายผลในทุกพื้นที่ ช่วยกันทำหน้าที่เป็น Salesman ถ่ายทอดเชิญชวนให้ภาคเอกชนมาร่วมรับซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในทุกชุมชนต่อไป และเนื่องในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขอให้พวกเราได้ร่วมกันเฉลิมพระเกียรติด้วยการมุ่งมั่นร่วมกันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในฐานะข้าราชการที่ดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม อันเป็นการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ต้องทำทันที (Action now) เพื่อความสำเร็จที่เรามาร่วมกันประกาศในวันนี้เป็นจริงในวงกว้างและยั่งยืน ด้วยน้ำมือของพวกเราชาวมหาดไทยทุกคน