มช.เอ็มโอยู GC จัดการขยะ ดันโครงการ 'ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง'

11 มิถุนายน 2567

มช.เอ็มโอยู GC จัดการขยะ ดันโครงการ 'ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง'

มช. จับมือ GC เอ็มโอยู จัดการขยะ ดันโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ปลูกฝังนักศึกษา-บุคคลากรช่วยกันแยกขยะ นำไปรีไซเคิล

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.67 ที่ Exhibition Hall อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการจัดการขยะ

ในโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ภายใต้แนวคิดส่งเสริมการแยกขยะและให้ความสำคัญการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมคัดแยกและการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี ให้กับสังคม

โดยได้รับเกียรติจาก พลเอก วีรชน สุคนธปฏิภาค ผู้แทน วปอ. 60 พร้อมคณาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้บริหาร GC ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯครั้งนี้

ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ เปิดเผยว่า เป้าหมายการลงนามความร่วมมือด้านการจัดการขยะ เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมกันของ มช.และ GC ในการจัดการขยะที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม คือโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ที่จะช่วยส่งเสริมการแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง หรือนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อ เป็นวัตถุประสงค์แรกที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในกลุ่มนักศึกษา และบุคคลกร ส่วนขยะที่ไม่ใช้พลาสติก มช.สามารถจัดการให้เกิดเป็นพลังต่อเนื่องได้อีก

นอกจากนี้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60 หรือ (วปอ. 60) ผู้นำในการดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือและสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สั่งคม (CSR) ยังเข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)

โดยมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะที่ถูกทิ้งอย่างไม่เหมาะสม และเพิ่มอัตราขยะรีไซเคิลให้มากขึ้น ผลระยะสั้นจากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมา เช่น กิจกรรมรับน้องขึ้นดอย ทุกฝ่ายร่วมกันแยกขยะพลาสติกออกมาได้จำนวนเท่าใด ส่วนระยะกลางประเมินตัวเลขการแยกขยะพลาสติก เพื่อคำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตได้เท่าไหร่ และระยะยาว คือการสร้างความตื่นตัวให้นักศึกษา และบุคคลกร

“มช. มีวิสัยทัศน์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ตั้งเป้าปลุกจิตสำนึกนักศึกษาให้หันมาใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่า เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI-CMU) เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการขยะในมหาวิทยาลัย ให้กับนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย “ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าว

ด้าน ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า GC ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนด้วยสมดุล ด้าน ESG มาอย่างต่อเนื่อง

โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 พร้อมนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยริเริ่มและสร้างแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาขยะในประเทศไทยร่วมกับภาคสังคม ผ่าน ‘GC YOUเทิร์น แพลตฟอร์มบริหารจัดการพลาสติกแบบครบวงจร’

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีให้กับคนรุ่นใหม่ โดยการเก็บกลับพลาสติกใช้แล้วให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลและอัพไซเคิล นำกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่า โดย GC และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มรณรงค์และสร้างการรับรู้ด้านการจัดการขยะในกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น งานรับน้องขึ้นดอย งานสานศิลป์ กิ๋น แอ่ว อู้ มาตั้งแต่ปลายปี 2566

ด้วยการความร่วมมือริเริ่มโครงการ “ลูกช้าง THINK TO TURN LEARN TO ทิ้ง” ของทุกภาคส่วนครั้งนี้ GC นำความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยส่งเสริมการจัดการขยะภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อต่อยอดความร่วมมือและสร้างการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร และสร้างโอกาสขยายผลไปยัง

ชุมชนรอบรั้วภายนอก มช.ต่อไป

“PTT GC สนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีให้กับคนรุ่นใหม่ โดยนำระบบดิจิทัลมาใช้เก็บ Data ที่เกี่ยวข้องในการจัดการพลาสติกใช้แล้ว โดยร่วมมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ องค์กรชั้นนำ และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านความร่วมมือที่ทุกฝ่ายรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม นำไปสู่การพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สร้างสังคมประเทศให้มีการตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะที่ดี” ดร.ชญาน์ กล่าว

ดร.ชญาน์ กล่าวอีกว่า มีพันธมิตรเข้าร่วมกับ GC เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ GC มองว่าจะทำอย่างไรจะเกิดความยั่่งยืน และพันธมิตรมีความเข้มแข็งด้วย ทาง GC จึงได้ถ่ายทอดความรู้เพื่อให้พันธมิตรดำเนินการได้ด้วยตัวเอง จะทำให้ทั้งประเทศมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ และนำกลับไปรีไซเคิลมากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังรีไซเคิลขยะค่อนข้างน้อย หากดำเนินการสำเร็จ จะช่วยยกระดับประเทศไทยให้เทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้ปริมาณขยะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_8279559

ความคิดเห็นของคุณ
*
*