ผลวิจัยชี้ "โคคา-โคล่า" เป็นแบรนด์สินค้าที่ก่อมลพิษพลาสติกสูงสุดในโลก

29 เมษายน 2567

ผลวิจัยระดับโลกโดยองค์กรระหว่างประเทศ 12 แห่ง ซึ่งเผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ บ่งชี้ว่า “โคคา-โคล่า” เป็นแบรนด์สินค้าที่ก่อมลภาวะพลาสติกสูงที่สุดในโลก

ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ ขยะพลาสติก เป็นระยะเวลา 5 ปี ใน 84 ประเทศ เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) พบว่า บริษัทเอกชน 56 บริษัทเป็น ผู้ก่อมลพิษพลาสติก (plastic polluters) รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของมลพิษพลาสติกจากแบรนด์สินค้าทั้งหมดทั่วโลก โดยผลวิจัยเผยให้เห็นว่า โคคา-โคล่า (Coca-Cola Company) เป็นแบรนด์สินค้าที่ก่อมลพิษพลาสติกสูงที่สุดในโลก 

นอกจากนี้ ยังมี 13 บริษัท ที่แต่ละแห่งก่อมลพิษพลาสติกในสัดส่วนมากกว่า 1% ของทั้งหมด ซึ่งบริษัททั้ง 13 รายดังกล่าวเป็นผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ

ผลวิจัยเผยให้เห็นว่า โคคา-โคล่า เป็นแบรนด์สินค้าที่ก่อมลพิษพลาสติกสูงที่สุดในโลก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 11% ของมลพิษพลาสติกจากแบรนด์สินค้าทั้งหมดทั่วโลก รองลงมาคือ เป๊ปซี่โค (PepsiCo) ในสัดส่วน 5% ตามมาด้วยเนสท์เล่ (Nestle) และดานอน (Danone) ที่ 3% เท่ากัน

เคที วิลลิส นักวิจัยจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันศุกร์ (26 เม.ย.) ว่า การค้นพบนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และเน้นย้ำถึงความสำคัญของวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งรวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและยั่งยืน ที่จะช่วยลดความต้องการใช้พลาสติกใหม่ทั่วโลก

ขยะพลาสติกจากบรรดาบรรจุภัณฑ์ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก
ขยะพลาสติกจากบรรดาบรรจุภัณฑ์ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก

นักวิจัยกล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยังรวมถึง

  • การเพิ่มความสามารถในการนำผลิตภัณฑ์นั้นๆกลับมาใช้ซ้ำ
  • ความสามารถในการซ่อมแซม
  • และความสามารถในการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์นั้นๆ ด้วย

ผลการวิจัยยังระบุด้วยว่า มลพิษพลาสติกจากแบรนด์สินค้า และมลพิษพลาสติกที่ไม่ได้มาจากแบรนด์สินค้าซึ่งพบในสิ่งแวดล้อมนั้น มีสัดส่วนพอๆกัน หรือราวครึ่งต่อครึ่ง

งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการ Science Advances ข้อมูลจากการสังเกตการณ์ปัญหาขยะพลาสติกเป็นระยะเวลา 5 ปี ใน 84 ประเทศของการวิจัยครั้งนี้ มาจากการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศเหล่านี้ นำโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Dalhousie University ในแคนาดา

โทนี่ วอล์คเกอร์ ผู้ร่วมเขียนรายงานจากคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัย Dalhousie กล่าวว่า สิ่งที่งานวิจัยครั้งนี้ค้นพบคือบริษัทผู้สร้างมลภาวะขยะพลาสติกนั้น หลายรายคือบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ระดับโลก ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้สามารถเข้าถึงตลาดทุกประเทศในโลก ข้อมูลส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในปี 2000 โลกมีการผลิตพลาสติกมากขึ้นสองเท่าเป็น 400 ล้านตัน เมื่อเทียบกับสถิติในปี 2019 ซึ่งมีการผลิตพลาสติกที่ระดับ 200 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมบวกจะพบว่า บริษัทผู้สร้างขยะพลาสติกเหล่านี้ต่างตระหนักดีถึงปัญหาและมีนโยบายบริหารจัดการเพื่อลดการใช้พลาสติก โดยแถลงการณ์ของโคคา-โคล่า ระบุว่า บริษัทได้ตั้งเป้าหมายจะปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดทั่วโลกภายในปีค.ศ.2025 และตั้งเป้านำวัสดุรีไซเคิลแล้วอย่างน้อย 50% มาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ภายในปี 2030

ส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก
ส่วนหนึ่งของความพยายามในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

ที่สำคัญคือ โคคา-โคล่า มีเป้าหมายในการเก็บคืนบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดและกระป๋องทุกใบที่บริษัทจำหน่ายไป เพื่อนำกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิล ตั้งเป้าทำให้ได้ในปี 2030

ทางด้านเป๊ปซี่โค ได้ออกแถลงการณ์เช่นกันเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (24 เม.ย.) ว่า บริษัทได้ทุ่มงบลงทุนอย่างมากในระยะกว่าสิบปีที่ผ่านมา เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ และนำนโยบาย “นำกลับมาใช้ใหม่” (reuse) มาใช้ พร้อมทั้งพัฒนาวิธีการต่างๆที่จะเก็บคืนและรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์

“บริษัทให้การสนับสนุนนโยบายระดับโลกที่จะกำหนดกรอบการทำงานที่มุ่งแก้ไขปัญหามลภาวะที่เกิดจากพลาสติก และยังแสวงหาพันธมิตรที่จะร่วมด้วยช่วยกันในการทำภารกิจดังกล่าวนี้ด้วย” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

ขณะที่เนสท์เล่ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกันว่า บริษัทตระหนักดีถึงปัญหาเกี่ยวกับขยะว่ามีความสำคัญ และบริษัทเองก็เป็นองค์กรหนึ่งที่ทุ่มเทให้ความสำคัญที่จะร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งยังปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระดับโลกที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เนสท์เล่เองมีโครงการพัฒนาระบบการเก็บคืนบรรจุภัณฑ์ คัดแยก และรีไซเคิล ในหลายภูมิภาคของโลกไม่ว่าจะเป็นยุโรป แอฟริกา เอเชีย อเมริกาเหนือ หรือละตินอเมริกา

ส่วนดาน่อนยังไม่ได้ตอบกลับเมื่อสื่อสอบถามความเห็นในเรื่องนี้

ข้อมูลอ้างอิง

ที่มา : https://www.thansettakij.com/world/594669

Leave your comment
*
*