โลกและประเทศไทย กำลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติจากขยะพลาสติก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภค ปลายทางของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง มักไม่ถูกนำไปรีไซเคิล เพราะปนเปื้อน ขณะเดียวประเทศไทยยังไม่มีระบบรีไซเคิลที่ชัดเจนของพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดังนั้นปลายทางของพลาสติกเหล่านี้ จะไปอยู่ในหลุมฝังกลบ และหลุดรอดลงทะเล
นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทย มีการกำหนดเป้าหมายในการลดการใช้พลาสติกจากกระบวนการผลิต ร้อยละ 60 ภายในปี พ.ศ. 2583 และเรียกร้องนโยบายเพื่อยุติ Fast fashion ซึ่งก่อให้เกิดปริมาณพลาสติกที่ใช้ในการผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่มีอายุการใช้งานสั้น รวมถึงส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีและวัสดุที่เป็นนวัตกรรมเพื่อทดแทนพลาสติก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดโรดแม็พ (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ที่มีเป้าหมาย คือ การลดและเลิกใช้พลาสติก ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“ภายใน 3 ปีหลังจากนี้ จะนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล 100% เพราะฉะนั้น ปริมาณขยะที่มีอยู่จำนวนมากจะค่อนข้างลดลง ทั้งนี้ทั้งนั้นจะลดลงไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งพี่น้องประชาชน และผู้ผลิตขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือ เพราะขยะพลาสติกมีปริมาณเยอะมาก” รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าว
นายเถลิงศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแผนรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์ ได้คุยกับผู้ผลิตต้องวางแผนการผลิตพลาสติก พลาสติกที่บางเกินไปจะถูกลดจำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งพลาสติกที่หนา จะนำมารีไซเคิลรียูสได้ เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการลดการผลิตพลาสติกลงมา ดังนั้นแผนรีไซเคิล จะเน้นหารือกับผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับแผนขยะแห่งชาติ เพียงแต่ว่าตอนนี้อาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก ซึ่งในระยะยาวอาจต้องทำให้เป็นกฎหมาย ทำให้เป็นระเบียบเพื่อทำให้เกิดรูปธรรม เรื่องนี้ กรมควบคุมมลพิษ กำลังดำเนินการ โดยจะมีแผนดำเนินงานเป็นขั้นตอนในแต่ละช่วง เพราะอย่างที่ทราบ ตอนนี้พื้นที่หลุมฝังกลบมีไม่เพียงพอ จะไปสร้างใหม่ก็ถูกต่อต้าน ดังนั้นต้องจัดการในพื้นที่เดิม คือลดปริมาณขยะลงสู่หลุมฝังกลบ ขณะเดียวต้องนำขยะมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด จะเป็นส่วนหนึ่งในการยืดอายุหลุมฝังกลบต่างๆ ส่วนเรื่องระเบียบกฎหมายต่างๆ จะทยอยออกมาเพื่อช่วงแรกขอความร่วมมือ ระเบียบต่างๆ จะนำไปใช้กับผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันมีการนำพลาสติกมารีไซเคิลประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศงดการนำเข้าพลาสติกจากต่างประเทศแล้ว ส่วนโฟมมีการยกเลิกการผลิตแล้วในประเทศไทย