ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ประจำ ส่วนใหญ่แพ็คเกจจิ้งก็ทำมาจากพลาสติก ด้วยคุณสมบัติที่แข็งแรง ยืดหยุ่น และต้นทุนไม่สูงมากนัก จึงเป็นเรื่องยากที่หลีกเลี่ยงไม่ใช้พลาสติก แต่ทุกคนรู้ดีว่าพลาสติกใช้เวลานานกว่า 400 ปี กว่าจะย่อยสลาย ดังนั้น การคัดแยกก่อนทิ้ง เพื่อนำบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ จึงเป็นหนึ่งในทางออกเพื่อลดขยะพลาสติก
บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยพลาสติกมีหลากหลายประเภท นอกจากพลาสติกใส(PET) ที่ถูกกล่าวถึงในการนำมารีไซเคิลใช้ซ้ำกันอย่างกว้างขวาง พลาสติกอีกประเภทที่หลายคนคุ้นตาคือ พลาสติกชนิด HDPE หรือที่เรียกว่าขวดขุ่น ที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ใส่นม ก็มีจำนวนมาก ถึงแม้ว่าในกระบวนการรีไซเคิลจะไม่สามารถนำมาผลิตใช้ซ้ำได้ แต่สามารถนำมารีไซเคิลในรูปแบบอื่นเพื่อใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้จึงนับเป็นครั้งแรกของบริษัทซีพี-เมจิ ที่ได้จัดทำโครงการ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น” โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำแกลลอนนมพลาสติกชนิด HDPE เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล แปรรูปเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำมาผลิตเป็นถังขยะ ตั้งเป้าเก็บ 15,000 แกลลอน จะสามารถแปรรูปเป็นถังขยะได้จำนวน 500 ถัง และส่งมอบให้จังหวัดสระบุรี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566
ชาลินี พูนลาภมงคล ผู้ช่วยผู้อำนวยการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งนโยบายด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดทำโครงการซีพี-เมจิ รีไซขุ่น และเป็นก้าวแรกของซีพี-เมจิ ในการดำเนินการด้านขยะพลาสติก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศและระดับโลก เนื่องการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ที่ใช้บรรจุนมและโยเกิร์ต ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้เป็นพลาสติกประเภท HDPE หรือ ขวดขุ่น ที่มีทั้งในรูปแบบขวดหลากหลายขนาด และแบบแกลลอนจำนวนมากประมาณ 60 ล้านแกลลอน/ปี โดยมีการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ
ชาลินี กล่าวต่อว่า จึงอยากจะริเริ่มในการนำขวดขุ่นมารีไซเคิล แต่ยังไม่ได้มีการทำอย่างแพร่หลายนัก ในเฟสแรกของการเริ่มโครงการจึงอยากจะสร้างการรับรู้ และสร้างความร่วมมือกับลูกค้าและผู้บริโภคของเราในการแยกขยะพลาสติก และนำมาทิ้งยังจุดรับทิ้งได้ โดยรับจำนวน 15,000 แกลลอน คิดเป็นน้ำหนักพลาสติกรวม 1,000 กิโลกรัม จากนั้นจะนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกตั้งต้นปริมาณ 20% สำหรับนำมาผลิตถังขยะขนาด 120 ลิตรสีเหลือง สำหรับการแยกขยะรีไซเคิล เพื่อให้จำนวนถังขยะที่ตั้งเป้าไว้ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ด้านการจัดการขยะอย่างถูกต้องให้กับทุกภาคส่วน และแน่นอนว่าจะมีการดำเนินการในเฟสต่อไป ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะแปรรูปจากขวดขุ่นอาจจะต้องการคิดว่าจะเป็นถังขยะ หรือ ผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มีประโยชน์
ทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร CirPlas ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการจัดการขยะพลาสติก กล่าวว่า จากสถิติในปี 2565 ประเทศไทยสร้างขยะ 70,411 ตัน/วัน เฉลี่ย 25.70 ตัน/ปี เท่ากับคนไทยสร้างขยะเฉลี่ยคนละ 1.07 กก./วัน ในส่วนของกรุงเทพฯ สร้างขยะเฉลี่ย 10,706 ตัน/วัน คิดสัดส่วนเท่ากับคนกรุงเทพฯสร้างขยะเฉลี่ยนคนละ 2-3 กก./วัน
โดยในภาพรวมประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 2.7 ล้านตัน โดยขยะมากกว่า 75% ไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งมักจะถูกนำไปฝังกลบ หรือเผาทำลาย ส่งผลให้เกิดการหลุดรอด และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งไทยมีแหล่งกำจัดขยะที่ถูกต้องประมาณ 140 แห่ง คิดเป็นเพียง 5% ของทั้งประเทศ
“ในส่วนพลาสติก เป็นความจำเป็นที่มีความต้องการใช้สูงมากในการผลิตเครื่องใช้ แพ็คเกจจิ้ง และกว่า 40% เป็นฟู้ดแพคเกจจิ้ง ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นตัวสำคัญในการสร้างขยะพลาสติก โดยขยะพลาสติกที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลสูงที่สุดคือพลาสติกประเภท PET อยู่ที่ 70% รองลงมาคือ PP 25% และบรรจุภัณฑ์ประเภท HDPE อยู่ที่ 20% ซึ่งโครงการนี้อาจจะช่วยให้เปอร์เซ็นของการรีไซเคิลขวดขุ่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไปในทางที่ดีขึ้น โดยในการคัดแยกขวดขุ่นเพียงแยกพลาสติกที่เป็นฉลาก และล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนนำไปยังจุดคัดแยก เพื่อให้ง่ายต่อการรีไซเคิล” ทศพล กล่าว
ทศพล กล่าวเสิรมอีกว่า ในปัจจุบันการรีไซเคิลขวดขุ่น ไม่ใช่แค่ขวดนม แต่ยังรวมไปถึงขวดแชมพู ขวดผลิตภัณฑ์ซักผ้า ยาฆ่าหญ้า ด้วยคุณสมบัติของพลาสติกประเภทขุ่นที่ดูดกลิ่น จึงไม่สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นฟู้ดเกรดได้ จะทำได้เฉพาะพลาสติกประเภทขวดใส แต่สามารถรีไซเคิลกลับไปเป็นเม็ดพลาสติกและนำกลับไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกสีดำ เช่น กะละมัง เนื่องจากสีตั้งต้นอาจจะมีหลายสี ยิ่งถ้าเป็นขวดขุ่นสีขาว จะมีค่ามากเพราะสามารถนำไปรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกสีขาว ที่จะเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกอื่นๆได้ง่าย
อย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการซีพี-เมจิ รีไซขุ่นสามารถนำส่งแกลลอนนมพลาสติกไปยังจุดรับทิ้งของ CirPlas กว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถค้นหาข้อมูลของจุดรับทิ้งได้ที่ เฟสบุค CirPlas หรือ Line Official (@cirplas) และลูกค้าสามารถสังเกตเครื่องหมายแคมเปญ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่นได้ทุกจุดรับทิ้งแกลลอน