จบ ‘เทศกาลสาดสนุก’ แต่โลกเศร้าแบกกองขยะมหาศาล เปิดวิธีสนุกด้วยช่วยโลกด้วย

19 เมษายน 2567

ยิ่งปีนี้อากาศร้อนแบบ “โลกเดือด” หลายพื้นที่ที่ได้จัดเต็มสาดความบันเทิงกันเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต ปลุกขบวนรถพาเหรด แสง สี เสียง แปรอักษรโดรนสุดอลังการเต็มท้องฟ้าสนามหลวง ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ประทับใจไม่รู้ลืมกับเทศกาลมหาความสุขครั้งนี้ ทางหอการค้าไทย ประเมินเม็ดเงินสะพัดครั้งนี้ไม่ตํ่ากว่า 128,834 ล้านบาท ได้รับเสียงชื่นชมอื้ออึง ทั้งคนไทย และต่างชาติ เห็นได้จากสำนักข่าวต่างประเทศต่างพากันรายงานบรรยากาศสนุกครึกครื้น

ยิ่งเทศกาลสุดยิ่งใหญ่ ผู้คนต่างหลั่งไหลมาเที่ยวเท่าไร ปฏิเสธไม่ได้ว่า สิ่งที่ตามมาหนีไม่พ้น “ปริมาณขยะ” มหาศาล ที่กองพะเนินหลังจบงานในแต่ละวัน นับปริมาณขยะแค่ใน กทม.ทั่วทั้ง 50 เขต ช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 10-16 เม.ย. 67 รวมแล้วกว่า 51,437.43 ตัน เฉลี่ยต่อวัน 7,348.20 ตันส่วน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่มีปริมาณขยะทั่วกทม.ทั้ง 50 เขต ช่วงเวลาเดียวกัน รวม 50,767.67 ตัน เฉลี่ยต่อวัน 7,252.52 ตัน ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มขึ้นถึง 669.76 ตัน ปริมาณขยะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 1.3% และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มขึ้น 2 tCO2e

โดย “เอกวรัญญู อัมรปาล” โฆษก กทม. ระบุว่า ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นช่วงสงกรานต์ในพื้นที่ กทม.ในพื้นที่จัดงานที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมากอย่างเช่น บริเวณถนนข้าวสารและโดยรอบ ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย. 67 มีปริมาณขยะ รวมทั้งสิ้น 162 ตัน ส่วนที่สีลมนั้นเบื้องต้น สำนักงานเขตบางรักรายงานยอดปริมาณขยะสงกรานต์สีลม ระหว่างวันที่ 13-14 เม.ย. รวม 33.51 ตัน

ปัญหาและอุปสรรคในการจัดเก็บขยะช่วงสงกรานต์นั้น บางส่วนจะไม่มีการคัดแยก และขยะจะเปียกนํ้า ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาในการจัดเก็บมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อคัดแยกขยะก่อนนำขึ้นรถไปส่งกำจัดในศูนย์กำจัดขยะ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1. ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช 2. ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม 3. ศูนย์กำจัดขยะสายไหม ตามระบบเหมือนในช่วงเวลาปกติ แต่ทั้งนี้ในบางพื้นที่จัดงาน กทม. ได้มีการตั้งถังขยะแบบคัดแยกไว้และมีเจ้าหน้าที่คอยประจำการเพื่อแนะนำประชาชน นักท่องเที่ยวให้ทิ้งขยะลงถังอย่างถูกต้อง ปริมาณส่วนใหญ่ยังเป็นถุง กล่อง พลาสติก กล่องกระดาษ กล่องโฟม กระป๋องแป้ง ขัน ถังพลาสติก แป้ง ขวดเบียร์ ขวดเหล้า

ขณะที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าฯกทม. ได้ไลฟ์สด ผ่านเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ระหว่างลงพื้นที่ ตรวจพื้นที่และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เจ้าหน้าที่กวาด สำนักงานเขตพระนคร ในการทำความสะอาดถนนข้าวสารหลังจบงานสงกรานต์เมื่อคืนวันที่ 15 เม.ย. เดินลัดเลาะไปตามถนนรามบุตรี ทะลุถนนจักรพงษ์ ซึ่งพื้นถนนขาวโพลนไปด้วยแป้ง ขยะ ขวดแก้ว ลังกระดาษ
ปืนฉีดนํ้า ถังนํ้า กระป๋องแป้ง โดยเจ้าหน้าที่เริ่มทำความสะอาดตั้งแต่เวลา 04.00 น. พร้อมรถนํ้ากว่า 6 คัน เก็บกวาดขยะ
จัดเก็บอุปกรณ์ และฉีดล้างทำความสะอาดถนนข้าวสาร และพื้นที่โดยรอบ ซึ่งคาดว่าจะทำความสะอาดแล้วเสร็จในช่วงบ่าย วันที่ 16 เม.ย

“หลังทุกคนสนุกกัน จากนั้นก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องมาล้างทำความสะอาดกันต่อไป ขอบคุณพี่กวาดทุกคนผู้ที่ช่วยทำให้เมืองเราเรียบร้อยขึ้น”

ด้าน “พรพรหม ณ.ส.วิกิตเศรษฐ์” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. และผู้บริหารด้านความยั่งยืนคนแรกของ กทม. เล่าถึงภาพรวมการจัดเก็บขยะในพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า เป้าหมายการจัดเก็บ คือ ต้องทำอย่างไรไม่ให้มีขยะเหลือตกค้างในแต่ละวัน ถือว่าทำได้ดีมาก และหลังเสร็จสิ้นเทศกาลก็มีเจ้าหน้าที่ออกมาล้างทำความสะอาดถนนอีกครั้ง ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลว่ามีขยะเกิดขึ้นจำนวนเท่าไร และมีการคัดแยกจำนวนเท่าไร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ถนนข้าวสาร เขตพระนคร หรือสีลม เขตบางรัก ได้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ จากตัวเลขข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้น เชื่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นขยะที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลรวมกับปริมาณขยะเดิม ที่แต่ละเขตได้ดำเนินการจัดเก็บเป็นประจำทุกวัน จึงทำให้เห็นว่ามีตัวเลขปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าปกติ

สำหรับการคัดแยกขยะของ กทม.มี 3 ประเภทด้วยกันคือ สีเขียวขยะอินทรีย์ สีนํ้าเงินขยะทั่วไป และสีเหลืงขยะรีไซเคิล แต่ปีนี้มีกรณีพิเศษที่น่าสนใจคือการจัดการขยะบริเวณสนามหลวง ซึ่ง กทม. ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกลุ่มคนรุ่นใหม่ MMU sustainable agency ดำเนินการคัดแยกด้วยถังขยะ 7 ประเภท ประกอบด้วย ขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ก็จะแยกเป็นกระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว พลาสติก รวมถึงปืนฉีดนํ้า เนื่องจากเป็นพลาสติกชนิด PP รวมถึงรับนํ้ามันใช้แล้วจากร้านค้าที่ขายของอยู่ภายในสนามหลวงด้วย ซึ่งมีการตั้งถังขยะไว้ 5 จุดทั่วบริเวณงาน ซึ่งจากรายงานตัวเลขมา 5 วันมีปริมาณขยะ 5.3 ตัน โดยแบ่งเป็นขยะอินทรีย์ประมาณครึ่งหนึ่งซึ่งสอดคล้องกับ ตัวขยายภาพรวมของกรุงเทพมหานครด้วย

ทั้งนี้สำหรับขยะในพื้นที่บริเวณสนามหลวงเมื่อคัดแยกแล้วจะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนที่ กทม. ดำเนินการเอง ได้แก่ ขยะเศษอาหาร ขยะย่อยสลายได้ จะนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนขยะทั่วไป กระดาษลัง แก้ว ฝา พลาสติก จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของ กทม. ส่วนขยะที่เหลือ ผู้จัดงานจะดำเนินการประสานเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามารับไปดำเนินการต่อ ได้แก่ ขยะประเภทอะลูมิเนียม แก้ว ก็จะถูกส่งนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่, ขยะประเภทขวดนํ้าพลาสติกขวด PET จะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลหรือขวดใหม่, นํ้ามันที่ใช้แล้วจะถูกนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน และปืนฉีดนํ้าพลาสติก PP จะนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเม็ดพลาสติกรีไซเคิล

ไม่เพียงเฉพาะเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ของหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้นที่จะต้องดูแลรักษาความสะอาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ประชาชนทุกคนที่ออกมาสาดความสนุกบนถนนทุกเส้นทุกสายก็จำเป็นจะต้องตระหนักถึงการรับผิดชอบ “ขยะ” หลังอุปโภคบริโภคด้วยเช่นกัน โดยการรับผิดชอบที่กล่าวมานั้น ไม่ใช่การทิ้งขยะลงถังเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการรู้จัก “แยกขยะ” ให้ถูกประเภทก่อนการทิ้ง เพื่อให้ขยะถูกนำไปรีไซเคิลและกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดขยะ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตสินค้าขึ้นใหม่ ที่นอกจากจะเซฟโลกได้แล้ว ยังช่วยเซฟเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานใกล้ชิดกับขยะอีกด้วย

สำหรับจุดสังเกตง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถ “แยกขยะ” ได้ มีดังนี้

ถังขยะสีเขียว มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะอินทรีย์” หรือที่เข้าใจกันดีในชื่อ “ขยะเปียก” หรือ “ขยะเน่าเสีย” ที่สามารถย่อยสลายได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็น เศษอาหาร เนื้อสัตว์ เปลือกผักผลไม้ เศษดอกไม้ใบหญ้า

ถังขยะสีนํ้าเงิน มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะทั่วไป” ซึ่งใช้เวลาในการย่อยสลายนานและไม่นิยมนำกลับมารีไซเคิล อาทิ เศษยาง เศษกระดาษปนเปื้อนนํ้ามัน กล่องโฟม ซองขนม ถุงแกง เป็นต้น

ถังขยะสีเหลือง มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะรีไซเคิล” อย่างที่หลายคนพอจะทราบกันดี มีตั้งแต่ ถุงพลาสติก กล่องนม กระป๋อง ขวดแก้ว กระดาษต่าง ๆ ยกเว้นกระดาษทิชชู

ถังขยะสีแดง มีไว้สำหรับทิ้ง “ขยะอันตราย” ตั้งแต่ หลอดไฟ แบตเตอรี่มือถือ กระป๋องสารเคมี ยาและเครื่องสำอางหมดอายุ ตลอดจนขยะที่เป็นวัตถุไวไฟ โดยขยะในกลุ่มนี้จะต้องนำไปใส่ถุงสีทึบและมัดปากไว้ให้แน่นด้วยเชือกหรือเทปสีส้มก่อนทิ้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการบ่งบอกถึงประเภทของขยะให้เจ้าหน้าที่สังเกตได้โดยง่าย

ส่วนวิธีจัดการขยะพลาสติกช่วงเทศกาลสงกรานต์

ขยะพลาสติกจากปืนฉีดนํ้า คัดแยกเป็นพลาสติกรวมนำไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำกลับไปรีไซเคิล พลาสติกที่ไม่สามารถขายได้ นำไปแปรรูปเป็นขยะเชื้อเพลิง RDF.

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3352820/

ความคิดเห็นของคุณ
*
*
ความคิดเห็น
4/10/2567 0:25
Mr.

1

4/10/2567 0:25
Mr.

1

4/10/2567 0:26
Mr.

1

4/10/2567 0:26
Mr.

1