เอ็นไอเอ จับมือสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล โชว์นวัตกรรมการแปรรูปขยะพลาสติกสู่น้ำมันแนฟทาครั้งแรกในไทย พร้อมเดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัทนวัตกรรมระหว่างประเทศ “ไทย-อิสราเอล”
สำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority-IIA) ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน-NIA) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดตัวนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะพลาสติกผสมพีวีซีด้วยกระบวนการซูปเปอร์ออกไซด์ เพื่อผลิตน้ำมันแนฟทา (Naphtha) สำหรับอุตสาหกรรมเคมี ครั้งแรกของประเทศไทย
ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศของบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) จากประเทศไทย และบริษัทพลาสติกแบ๊ค (Plastic Back) จากประเทศอิสราเอล โดยนวัตกรรมนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหากระบวนการกำจัด และเปลี่ยนขยะพลาสติกที่มีพีวีซีปนเปื้อน อันยากต่อการกำจัด นอกจากนั้นยังนำมาซึ่งผลผลิตที่เป็นน้ำมันแนฟทาสำหรับใช้ในโรงงาน เพื่อทดแทนแนฟทาจากฟอสซิลซึ่งมีราคาสูงมาก โครงการนี้ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของโครงการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม (Bilateral Programs for Parallel Support)
นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ดิฉันยินดีที่ได้ทราบว่าโครงการร่วมที่ริเริ่มโดยฝ่ายเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย นำมาซึ่งความสำเร็จของโครงการความร่วมมือระหว่างไทย-อิสราเอลโครงการแรก ที่รู้จักกันในนามว่า “โครงการนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะพลาสติกผสมพีวีซีระหว่างเอสซีจี เคมิคอลส์ และพลาสติกแบ๊ค” ดิฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนวัตกรรมนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือต่างๆ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างสตาร์ทอัพขนาดเล็กจากอิสราเอล และบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อประชาชนของประเทศทั้งสอง”
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน-NIA) กล่าวว่า “NIA มุ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างมูลค่าและผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมอิสราเอล (Israel Innovation Authority-IIA) ดำเนิน โครงการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมในสาขาธุรกิจที่มีความสนใจร่วมกันระหว่างสองประเทศ โครงการนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะพลาสติกผสมพีวีซีระหว่างเอสซีจี เคมิคอลส์ และพลาสติกแบ๊คในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จนับตั้งแต่การลงนามความร่วมมือด้านนวัตกรรมในปี 2561”
ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า “เทคโนโลยีรีไซเคิลของบริษัทพลาสติกแบ๊ค สามารถนำพลาสติกชนิดพีวีซีใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอัตราการรีไซเคิลได้เกือบ 100% ทำให้พลาสติกใช้แล้วที่มีส่วนผสมของพีวีซีที่กำจัดด้วยกระบวนการทั่วไปได้ยาก สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถใช้งานได้หลากหลาย ทั้งแบบยูนิตเดี่ยวสำหรับติดตั้งโรงงานขนาดเล็ก จนถึงการรีไซเคิลปริมาณมากในระดับอุตสาหกรรมโดย SCGC มีแผนทดลองใช้เทคโนโลยีนี้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย เพื่อวิจัยหาสภาวะที่เหมาะสมที่สุดในการผลิตน้ำมันสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับโรงงานปิโตรเคมี โดยความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตามแนวทางของ SCGC ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมรักษ์โลก ตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon เพื่อมุ่งไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
นาย ทาล โคเฮน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพลาสติกแบ๊ค เสริมว่า“การรีไซเคิลพลาสติกที่ปนเปื้อนพีวีซีซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการทำงานนั้น ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ โดยความร่วมมือกับทางเอสซีจี เคมิคอลล์นั้นจะนำไปสู่การอัพไซเคิลพลาสติกที่ปนเปื้อนพีวีซีได้อย่างครบวงจร พลาสติกแบ๊คเชื่อว่าความร่วมมือกับทางเอสซีจีเคมิคอลล์นั้นจะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งผ่านการทำงานร่วมกันในการขยายผลการทำงาน ทั้งนี้กลไกโครงการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศเพื่อการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรม โดย IIA และ NIA ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเริ่มต้นความร่วมมือทางนวัตกรรม สร้างการผสานองค์ความรู้ และเป็นพื้นที่สร้างนวัตกรรมร่วมกัน”