ลุยปรับโครงสร้าง - แก้กฎหมายโรงงาน

4 มิถุนายน 2567

“พิมพ์ภัทรา” พลิกเกมสู้เวียดนาม-มาเลย์ สั่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรับเทรนด์โลกเปลี่ยน หลังผลสำรวจแมคเคนซีชี้หากไม่ปรับตัว SMEs ตายก่อน 50% พร้อมเดินหน้าแก้ พ.ร.บ.โรงงานฯ ย้ำต้องไม่เป็นอุปสรรคนักลงทุน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนามอบนโยบายเพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ว่า อุตสาหกรรมไทยขณะนี้ภาคการผลิตยังไม่สามารถผลิตตามความต้องการของโลกได้ ส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย ชิงตลาดที่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไป และในอนาคตไทยอาจต้องเสียตลาดในอุตสาหกรรมอื่นเพิ่มหากยังไม่ปรับตัว

พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

โดยจากการสำรวจของแมคเคนซียังพบว่า หากอุตสาหกรรมของไทยยังคงเป็นโครงสร้างเดิมในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเห็นผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) หายไปถึง 50% ดังนั้นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญ จำเป็นต้องทำแผนให้เสร็จภายในปี 2567 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ส่วนนโยบายการแก้ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาโรงงานนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยได้มอบนโยบายให้กรมจะต้องแก้ไขโดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคหรือเป็นภาระกับภาคเอกชน

“8 เดือนที่ทำงานมายังไม่เห็นจุดบอดของกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเรื่องกากแคดเมียม ปัญหาสารเคมีของโรงงานวิน โพรเสส ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเขาก็ทำแผนการขนย้ายระยะเร่งด่วนแล้ว เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ตอนนี้เราก็พยายามของบกลางเพื่อเอามาจัดการเรื่องขนย้ายเพราะเราให้เอกชนช่วยรับภาระตรงนี้ให้ ในส่วนอื่น ๆ เราพูดมาตลอดว่าเราต้องไม่ทำให้เป็นอุปสรรคกับนักลงทุนและผู้ประกอบการ”

ด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.อยู่ระหว่างจัดทำแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศหลังจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เริ่มที่จะขับเคลื่อนไม่ไป เพราะมีเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือ EV เท่านั้นที่ ซึ่งการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่จำเป็นต้องมีการกำหนดนโยบายชัดเจน เช่น จะพัฒนาอุตสาหกรรม Circular อย่างไร อุตสาหกรรมที่เป็นสีเขียว (Green) จะสนับสนุนทั้งคลัสเตอร์อย่างไร การเพิ่มผลิตภาพ

โดยจะต้องมีหน่วยงานส่วนอื่นที่เข้ามาบูรณาการร่วมกัน สำหรับแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์สันดาป (ICE) เพื่อรับมือกับ EV ตามเป้าหมาย 30@30 ในปี 2573 ล่าสุดได้หารือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อนำเงินกองทุนส่งเสริมและพัฒนา SMEs ที่มีอยู่ 2,000 ล้านบาท มาช่วยอัพสกิลให้กับผู้ประกอบการชิ้นส่วน ICE ที่พร้อมจะย้ายไปสู่ EV ซึ่งมีสัดส่วน 10% สามารถเป็นซัพพลายเชน EV ได้

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าของการแก้ปัญหาเรื่องโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงและกระทบสิ่งแวดล้อมว่า ตามที่คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร เสนอการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานฯ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยร่างดังกล่าวขอให้ยื่นแก้ไข 2 ส่วน คือ นิยามของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องครอบคลุมไปถึงโรงงานพลุ และการตั้งกองทุนเพื่อกำหนดให้โรงงานบางประเภทอุตสาหกรรม ต้องวางหลักประกัน และเพิ่มบทลงโทษในการเก็บค่าปรับเมื่อกระทำความผิด

จุลพงษ์ ทวีศรี

“ขณะนี้ได้เห็นร่างที่เสนอมาแล้ว และยังอยู่ในการพิจารณาของ กรอ. โดยยังมีบางมาตราที่ไม่ตรงกัน ต้องหารือกันอีกครั้ง ส่วนเรื่องของการตั้งกองทุน ด้วยการเก็บเงินจากบางประเภทอุตสาหกรรมเพื่อนำเงินเข้ากองทุนนั้น โดยตามหลักการในกองทุนดังกล่าวจะต้องมีการวางหลักประกันในอัตราที่ 5 เท่าของค่าธรรมเนียมรายปี เช่น โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมสารเคมี ก็จะถูกกำหนดให้จ่ายค่าธรรมเนียมเข้ากองทุน 10,000 บาท/ปี ทุก ๆ ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการส่งเงินรวมถึงการเก็บค่าปรับจากโทษของการกระทำผิดเพื่อเข้ากองทุน แต่เมื่อโรงงานประเภทที่มีความเสี่ยงสูงเลิกกิจการ เงินกองทุนดังกล่าวจะถูกส่งคืนกลับให้กับบริษัท”

“ส่วนการยื่นใบลาออกเมื่อวัน 29 เมษายน 2567 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ตอนนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ตามปกติจนกว่าจะถึงวันที่มีผลดังกล่าว การแก้กฎหมายโรงงานต้องใช้เวลาอีกนาน เพราะต้องคุยหลายฝ่าย โดยระหว่างนี้ยังดำเนินงานทั้งการขนย้ายกากแคดเมียม กากตะกอนเคมีในส่วนอื่น ๆ ไม่ใช่ช่วงสุญญากาศ และจะทำให้เร็วเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม”

ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-1573907

ความคิดเห็นของคุณ
*
*