กระป๋องอะลูมิเนียม เป็นมากกว่ารีไซเคิลด้วยคอนเทนต์

19 เมษายน 2567


กระป๋องอะลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลกลับมาได้ 100% อย่างไม่รู้จบ ในลักษณะ Closed Loop Recycling คือการรีไซเคิลหมุนเวียนครบวงจรอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังมีประโยชน์อย่างมากต่อการแก้ปัญหาขยะ ผลเช่นนี้ จึงทำให้ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ร่วมกับ Aluminium Loop จัดงานประกาศรางวัลของโครงการ University Can Do : To Be a Creator เพื่อปลุกพลังเยาวชนปั้นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่สายสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

โดยมีทีมคณะกรรมการมาช่วยตัดสินผลงานของน้อง ๆ นักศึกษา ประกอบด้วย “ธนบูรณ์ สมบูรณ์” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอจาก GREENERY และ “วิลาวัณย์ ปานยัง” ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอ บริษัท เอ็มเอ็มยู จำกัด (Make More Unlimited)

เบื้องต้น “กิติยา แสนทวีสุข” ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด กล่าวว่า TBC เป็นผู้นำด้านธุรกิจการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

โดยมีนโยบาย TBC Sustainability Goals 2030 หรือ TBC SG 2030 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และส่งเสริมยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

“โรงงานบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มของเราเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมในการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋อง เพราะเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ โดยไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมอย่างครบวงจรภายในประเทศ (Aluminium Closed-Loop Recycling) เนื่องจากปัจจุบันอัตราการรีไซเคิล (Recycling Rate) ในกลุ่มอะลูมิเนียมของไทยอยู่ที่ 88%

เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของอะลูมิเนียมรีไซเคิลในการผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมใบใหม่ (Recycled Content) จาก 70% เป็น 85% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ดังนั้นการทำเช่นนี้จะช่วยลดการถลุงแร่อะลูมิเนียมใหม่ พร้อมลดคาร์บอนลงได้ราว 3 เท่าตัว”

“กิติยา” กล่าวด้วยว่า ทางบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องของพลังเยาวชน เพราะคนรุ่นใหม่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศในอนาคต จึงต้องการใช้ช่องทางออนไลน์ที่เป็นเหมือนพื้นที่สาธารณะของเยาวชนในการสร้างการรับรู้ของคนในวัยเดียวกัน เพื่อเปลี่ยนภาพจำของการรีไซเคิลกระป๋องที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าสามารถบริจาค หรือรีไซเคิลได้แค่ห่วง แต่ในความเป็นจริง กระป๋องอะลูมิเนียมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ทุกส่วนแบบ 100% อย่างไม่รู้จบ

“ที่ผ่านมาเราจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป มีตัวแทนอินฟลูเอนเซอร์สายกรีนมาช่วยให้คำแนะนำ และความรู้แก่น้อง ๆ ในการพัฒนา และแนะนำเทคนิคต่าง ๆ ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ ซึ่งสัมผัสได้ว่าทุกคนมีพลัง และเป้าหมาย พร้อมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องของการอนุรักษ์ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิฉันเชื่อว่าน้อง ๆ ทุกคนตั้งใจทำอย่างสุดความสามารถ ขณะเดียวกัน TBC ก็ประสบความสำเร็จในการจัดงานครั้งนี้มาก ๆ”

โครงการ University Can Do : To be a Creator รับสมัครนักศึกษาทั้งประเภททีม และประเภทเดี่ยว โดยการรับสมัคร คัดเลือกกลุ่มที่มีความสามารถมาทั้งสิ้น 25 คน โดยแบ่งเป็นทีม 7 ทีม และเดี่ยว 6 คน โดยมีโจทย์ให้แต่ละทีมทำคลิปสั้น ภายใต้หัวข้อ “กระป๋องอะลูมิเนียม รีไซเคิลได้ทั้งใบ ไม่ใช่แค่ห่วง”

สำหรับลงในช่องทางออนไลน์ของ Aluminium Loop ทั้ง Facebook, Instagram และ TikTok นอกจากจะมีรางวัลให้ประเภททีม และเดี่ยวแล้ว ยังมีรางวัลพิเศษ Popular Vote เป็นกำลังใจให้กับน้องที่ได้รับการกดไลก์มากที่สุดรวมกันจากทุกช่องทางเพื่อสร้างกำลังใจในการสร้างสรรค์คลิปดี ๆ ต่อไป

โดยผู้ชนะรางวัลของโครงการแบ่งออกเป็นประเภทเดี่ยว ประเภททีม และ The Most Popular ดังนี้

รางวัลประเภทเดี่ยว : รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษาจำนวน 20,000 บาท ได้แก่ จันทกานต์ ทองถิ่น จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ใครไม่ล่าเบลล่า โดย ภัทรดา ผาเหลา จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทุนการศึกษาจำนวน 5,000 บาท ได้แก่ Let’s Green โดย ปุณยนุช อริยะคุณาธร จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

รางวัลประเภททีม : รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษาจำนวน 15,000 บาท ได้แก่ ทีม SNJ ตัวแม่มากู้โลก โดย ชฎารัตน์ อับไพ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และ อรปรียา รุ่งรัตน และ พงศ์โชติ นาสร้อย จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษาจำนวน 7,500 บาท ได้แก่ ทีม Titans and Troll โดย ธนกร พุฒแก้ว, จิรัชญา แสงอรุณ และ ณภคนันท์ พรมสุวรรณ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

รางวัล The Most Popular ทุนการศึกษาจำนวน 5,000 บาท ได้แก่ ทีม We are World โดย ทัตพงศ์ ปิยะรัตนพิพัฒน์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร, อัสมา เกื้อหมาด จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ รสชริญ จิตรหลัง จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์

เพราะฉะนั้น University Can Do : To Be a Creator จึงเป็นพลังในการสื่อสารเรื่องของสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนผ่านคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมอย่างเข้าใจง่ายที่สุด

ที่มา : https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1542925

ความคิดเห็นของคุณ
*
*