กทม. แยกขยะแล้ว ไปไหนต่อ? Version "ขยะเปียก"

30 พฤษภาคม 2567

แยกขยะแล้ว ไปไหนต่อ? Version "ขยะเปียก"
.
ในโพสต์ที่แล้วผมพูดถึง "ขยะแห้ง" วันนี้เลยอยากให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "ขยะเปียก" หรือ ขยะอินทรีย์/เศษอาหารครับ
.
ถ้าเทียบกับ "ขยะแห้ง" แล้วจริงๆ "เปียก" นั้นมีความท้าทายมากกว่าเยอะ เนื่องจากมีความเหม็น ชื้น น้ำหนักมากกว่า และไม่ได้มีตลาดรับซื้อเหมือนกับพวกรีไซเคิล
.
แต่เนื่องจาก "ขยะเปียก" มีสัดส่วนเกือบ 50% ของขยะทั้งหมดในกทม. และเป็นอุปสรรคต่อระบบรีไซเคิลที่สมบูรณ์ ทำให้เราต้องเน้นประเด็นนี้เป็นอย่างมาก
.
ถามว่าแยกขยะแล้ว "ขยะเปียก" ไปไหนได้บ้าง?
.
[1. เกษตรกรมารับถึงที่]
.
ทราบหรือไม่ว่าเศษอาหารเป็นของที่ต้องการของเกษตรกรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงปลามาก สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านอาหาร แถมช่วยกำจัดขยะให้เราด้วย และเกษตรกรเหล่านี้พร้อมวิ่งเข้ามารับจากจังหวัดรอบข้างเลยด้วยซ้ำ
.
หน้าที่ของกทมคือ การเชื่อมแหล่งกำเนิดกับเกษตรกรเข้าหากัน ถ้ามีตลาด/ห้าง/โรงแรม ไหนพร้อมแยกแล้วเราช่วยติดต่อเกษตรกรมารับให้เลย ส่วนใหญ่เกษตรกรจะรับพวกข้าวหมูแต่ปัจจุบันเริ่มมีคนรับเศษผักผลไม้มากขึ้นเช่นกัน
.
[2. สำนักงานเขตจัดเก็บตามร้าน/ครัวเรือน ด้วยรถเฉพาะ และนำมารวบรวมให้เกษตรกรมารับ]
.
ข้อจำกัดของการให้เกษตรกรมารับตรงคือแหล่งกำเนิดนั้นจะต้องมีปริมาณขยะเยอะ (ร้านเล็กๆที่มีขยะไม่มากก็ไม่คุ้มที่จะวิ่งไปรับ)
.
ซึ่งสำหรับร้านเล็กๆ/ห้องแถว/ครัวเรือน จะมีโมเดลที่สำนักงานเขตใช้รถเฉพาะวิ่งเก็บเศษอาหารอย่างเดียวในพื้นที่ และเอาทั้งหมดไปรวมไว้ที่จุดพักแห่งหนึ่ง และกำหนดเวลาให้เกษตรกรมารับทีเดียว ฝรั่งจะเรียกว่าโมเดล "Milk run"
.
กรณีนี้บ้านหรือร้านไหนสนใจแยกขยะก็สามารถติดต่อฝ่ายรักษาของแต่ละเขตได้เลยเพื่อเข้าร่วมโครงการ "#ไม่เทรวม"
.
[3. สำนักเขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรงหมักปุ๋ยที่อ่อนนุช/หนองแขม]
.
ถ้าแหล่งกำเนิดไหนมีผักหรือเปลือกผลไม้เยอะๆ (มากเกินกว่าที่เกษตรกรต้องการ) เช่นตลาดสด สามารถประสานให้สำนักงานเขตมารับไปส่งโรงหมักปุ๋ยของกทม.ได้ ซึ่งปุ๋ยเหล่านี้จะนำไปใช้กับต้นไม้สาธารณะหรือหน่วยงานรัฐต่างๆสามารถมาเบิกได้
.
[4. เขตจัดเก็บด้วยรถเฉพาะ และนำไปส่งโรง BSF หนองแขม]
.
โมเดลเดียวกันกับที่ไปส่งโรงหมักปุ๋ยคือเขตเข้าไปรับตามแหล่งกำเนิด แต่ที่ต่างคือปลายทางจะไปที่โรง BSF (Black Soldier Fly) หรือโรงกำจัดที่ใช้หนอนแมลงทหารดำ ที่สามารถกินเศษอาหารได้อย่างดี และตัวหนอนเองก็สามารถขายเป็นอาหารสัตว์ได้
.
ซึ่งอันนี้เป็นเทรนใหม่ที่หลายๆประเทศได้เริ่มดำเนินการ เรามีศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. และจุฬา โดยมีทีม สวนต้องก้าว เป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งปัจจุบันสามารถกำจัดได้วันละ 3 ตัน (เราวิ่งเก็บจากเขตฝั่งธนเป็นหลัก) และในอนาคต 10 ตันโดยใช้พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร
.
นอกเหนือจากนั้นยังเป็นที่สำหรับดูงานได้ โดยเริ่มมีเอกชนหลายแห่งหรือสำนักงานเขตเช่นเขตวัฒนา มาดูงานและนำไปต่อยอดในพื้นที่ของตัวเองแล้ว
.
[5. กำจัด ณ แหล่งกำเนิด]
.
อีกแนวทางสำคัญคือการกำจัดเศษอาหารที่แหล่งกำเนิดเลยเช่น การมีเครื่องหมักอัตโนมัติ ที่เข้าใจว่าปัจจุบันค่าลงทุนลดลงเรื่อยๆจากเมื่อก่อน ซึ่งเหมาะกับภาคเอกชนรายใหญ่ หรือการหมักแบบเทคนิคดั้งเดิม เช่น Green cone, ปุ๋ยคอก ต่างๆ ที่จะเหมาะกับภาคครัวเรือนหรือชุมชน หรือการทำแก๊สชีวภาพ
.
.
.
[แล้วสำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่อยากแยกขยะจะต้องทำยังไง? --> วันนี้รถขยะกทม.ทุกคันมีถังแยกแล้ว]
.
ปัจจุบันรถเก็บขยะของกทม. ทุกคัน (รถอัดที่เราเห็นทุกๆวัน) มีถังขยะสำหรับเศษอาหารวางไว้บนคอกรถหลังคนขับแล้ว ทุกบ้านเรือนสามารถแยกขยะเป็น 2 ถุง เขียนอะไรง่ายๆที่บ่งบอกว่าถุงนั้นเป็นขยะเปียก (หรือใช้ถุงใสให้เห็นข้างใน) แล้วเจ้าหน้าที่จะแยกไปใส่ถังเฉพาะ ถ้าลองแล้วยังเห็นว่าเจ้าหน้าที่เทรวมอยู่ สามารถแจ้งไปที่เขตหรือแจ้งผ่าน traffy fondue ได้
.
อีกอันที่เห็นแล้วดีใจคือที่ทาง รีไซเคิลเดย์ Recycle Day Thailand เริ่มมีโมเดลรับเศษอาหารโดยมีการให้เช่าถังแยกเศษอาหาร
.
ที่จริงแล้วยังมีวิธีการอื่นๆอีกมากมาย แต่ตัวอย่างเหล่านี้ก็สามารถบ่งบอกได้ว่าขยะนั้นถ้าแยกแล้วมีทางไปหมดแม้กระทั่ง "ขยะเปียก" ที่คนจะมักมองว่าเหม็นและไม่มีมูลค่าก็มีทางไปครับ
 
Leave your comment
*
*
Comments
4/10/2567 0:13
Mr.

1

4/10/2567 0:13
Mr.

1

4/10/2567 0:13
Mr.

1

4/10/2567 0:13
Mr.

1