ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition) สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ที่กระทบต่อภาคธุรกิจของไทยไม่น้อยเลย เริ่มจากความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่กระทบภาคส่งออกของไทย นั่นคือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism) คือการเก็บภาษีคาร์บอนสินค้านำเข้าในบางอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยให้สหภาพยุโรปสามารถก้าวสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนเป็นศูนย์ได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปจากค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่า สามารถแข่งขันได้ โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวนี้ อาจมีขอบเขตครอบคลุมและเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
ส่วนในประเทศไทย ก็มีความเคลื่อนไหวสำคัญ คือการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือกฎหมายโลกร้อนฉบับล่าสุด มีการระบุเรื่องการจัดทำบัญชีคาร์บอน ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Emission Trading System) และการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริง ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนสูง
หากรัฐบาลไทยเลือกเดินหน้าตามแผนเดิมที่กำหนดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ในปี 2065 ซึ่งนับว่าล่าช้ากว่าประเทศต่าง ๆ สุดท้ายเศรษฐกิจไทยจะเสียความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่สูงกว่าต่างประเทศที่หันไปใช้พลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนสูงจนเสี่ยงจะเผชิญมาตรการทางภาษีในต่างประเทศ รวมทั้งไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทระดับโลกหลายแห่ง อาทิ ไมโครซอฟต์ (Microsoft), กูเกิล (Google) และแอปเปิล (Apple) ที่ต่างตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในปี 2030
ความเสี่ยงที่สำคัญไม่แพ้กัน คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ประชาชนเริ่มตระหนัก และใส่ใจวิกฤตโลกร้อนมากขึ้น จึงพร้อมปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำนั่นเอง
วิกฤตโลกร้อน จึงเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงไม่ใช่เรื่องของความสมัครใจ ที่ใครจะทำหรือไม่ทำก็ได้ อีกต่อไป เพราะความเสี่ยงที่กล่าวมาทั้งหมด อาจเป็นเงื่อนไขสำคัญที่เป็นตัวกำหนดอนาคตของธุรกิจเรา ว่าจะล้มหายไป หรืออยู่รอดต่อไปก็ว่าได้
ดังนั้น การปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและการปรับใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความเข้มข้น ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ระบบภาษีคาร์บอน ซึ่งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีหน้าที่เสียภาษีคาร์บอนแบบอัตราก้าวหน้าแก่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และกรมสรรพากร รวมถึงกิจการบางประเภทอย่างผู้ประกอบการพลังงานและผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ พ.ร.บ. กำหนดให้ต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดตั้งฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเข้ามามีส่วนดูแลกับมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ภาคเอกชนจะต้องทำตาม ทำให้มีหลายข้อที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือไว้ก่อนดีกว่า แม้คาดว่าร่างพ.ร.บ. Climate Change จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาในรายละเอียดก็ตาม
โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาจถูกขอข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ แม้ว่าตอนนี้จะมีการรายงานแต่ก็เป็นแบบสมัครใจ แต่ในอนาคตการรายงานการตรวจวัด GHG อาจกลายเป็นข้อบังคับเหมือนการรายงานงบการเงินที่ต้องรายงานเป็นเรื่องปกติ
อุตสาหกรรม - กิจกรรม อะไรบ้าง? ที่ต้องรายงานการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก
การเปลี่ยนแปลงหลักที่จะเกิดขึ้น จากเดิมที่การตรวจวัด ก๊าซเรือนกระจก หรือ GHG จะเป็นไปตามความสมัครใจ และเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฯ นี้ จะให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจขอข้อมูลการปล่อย GHG ของกิจกรรม 5 ประเภทที่ต้องรายงาน GHG ได้แก่
• การใช้เชื้อเพลิง
• การผลิต
• การเกษตร
• ป่าไม้และการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
• การจัดการของเสีย
ในอุตสาหกรรมที่กำหนด 15 อุตสาหกรรม คือ 1.ผลิตไฟฟ้า 2.ก่อสร้าง 3.ขนส่ง 4.เหมืองถ่านหิน 5.น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 6.อโลหะ 7.เคมี 8.โลหะ 9.ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิง 10.อิเล็กทรอนิกส์ 11.การใช้สารทดแทนสารทำลายชั้นโอโซน 12.การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า 13.กระดาษและเยื่อกระดาษ 14.อาหารและเครื่องดื่ม 15.เกษตรและปศุสัตว์
เพื่อใช้ในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อให้ได้ปริมาณ GHG จะต้องมีการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวัดและรับรองปริมาณ GHG เป็นประจำทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาท ขณะที่ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ (CFP) ประเมิน 2 ปี 1 ครั้ง โดยใช้ระยะเวลาประเมิน 2 วัน หากมีโครงสร้างธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประเมินมากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ทั้งนี้ ภาครัฐอาจมีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายโดยการให้เงินสนับสนุนหรือนำค่าใช้จ่ายไปลดหย่อนภาษีได้
ผู้ประกอบการ และ SME ควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร?
รองอธิบดีกรมโลกร้อน ระบุว่า พ.ร.บ.ลดโลกร้อน ฉบับนี้ เป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทย ที่มีกรอบกว้างกว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ฯ โดยเฉพาะเรื่องการเงิน โดยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยเกินมา จะต้องชดเชยเป็นเงิน และนำไปสนับสนุน SME ในการปรับตัวเพื่อรับมือและเตรียมความพร้อมทำข้อมูลด้านคาร์บอนของตัวเอง
โดยรายละเอียดหลัก ๆ จะเน้นไปที่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัว รวมไปถึงการพิจารณาถึงมาตรการทางการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเงินค่าปรับไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอน และการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ซึ่งในข้อดังกล่าว ยังคงมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบอีกพอสมควร
อย่างที่พูดไปแล้วว่า แม้ตอนนี้จะมีการรายงานการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์จะเป็นแบบสมัครใจ แต่ในอนาคตการรายงานการตรวจวัด GHG อาจกลายเป็นข้อบังคับ ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมความพร้อมดังนี้
1. ทำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ จะเป็นมาตรฐานใหม่ของการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องมีการรายงานเช่นเดียวกับงบการเงิน มีชื่อว่า IFRS S1 และ S2 จัดทำโดย International Sustainability Standards Board (ISSB) ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่มาตรฐานนี้อาจถูกนำมาใช้ในหลายประเทศ ปัจจุบัน สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น แคนาดาและออสเตรเลียก็กำลังศึกษาแนวทางอยู่เช่นเดียวกัน ยิ่งทำให้มีน้ำหนักขึ้นไปอีกว่ากลุ่มธุรกิจอาจต้องมีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มมาอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือรายงานการตรวจวัด GHG
2. การลด ก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิต จะเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเพิ่มขึ้น และจะสูญเสียความสามารถในการแข่งกันต่อผู้ประกอบการที่ปล่อย GHG ต่ำกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการควรปรับตัวเพื่อลด GHG ทั้งในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการอื่น ๆ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
• ระยะสั้น อาจเริ่มด้วยการใช้คาร์บอนเครดิตที่มีมาตรฐานรับรอง เช่น T-VER (องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก) VCS (VERRA) Gold Standard หรือซื้อใบรองรองพลังงานหมุนเวียน (REC) เพื่อลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล
• ระยะยาว ผู้ประกอบการอาจต้องมีการลงทุนเผื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการใช้พลังงานหรือเทคโนโลยีเพื่อช่วยลด GHG ได้แก่
- เปลี่ยนเครื่องจักรที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาใช้ไฟฟ้า
- เปลี่ยนการขนส่งเป็นรถยนต์ Hybrid หรือรถยนต์ไฟฟ้า
- ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนโดยการติดตั้ง Solar Roof หรือทำสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากภาคเอกชน (Power Purchasing Agreement: PPA)
- ใช้วัสดุทดแทนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ อย่างวัสดุ Recycle วัสดุเหลือใช้ เป็นต้น
- เทคโนโลยีขั้นสูง Carbon Capture Utilization and Storage เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
3. นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นตลอดเวลา ผู้ประกอบการควรติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เช่น นโยบาย EU-CBAM ที่จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 และจะขยายประเภทสินค้ามากขึ้น หรือ มาตรการ US-CBAM ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในระยะยาว
อย่างไรก็ดี คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ จะต้องใช้ระยะเวลา 1 – 2 ปี เพื่อพิจารณาในรายละเอียด แต่ผู้ประกอบการควรรีบดำเนินการ โดยเริ่มจากการตรวจวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งในระดับองค์กรและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล โดยธุรกิจสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปแสดงในรายงานของกิจการหรือแสดงในฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของกิจการได้
พ.ร.บ.ลดโลกร้อน จะส่งผลดีต่อ SME อย่างไร?
สำหรับ พ.ร.บ.ลดโลกร้อน จะส่งผลดีต่อธุรกิจ SME คือ ช่วยส่งเสริมการพัฒนามาตรการและกลไกคาร์บอนเครดิต เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืนและคาร์บอนต่ำ
ที่สำคัญ จุดมุ่งหมายของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเน้นการลดการปล่อยก๊าซและการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องมาตรการทางการเงิน ซึ่งบทลงโทษว่าด้วยโทษปรับสำหรับผู้ที่ยังไม่ยอมเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชน จะนำค่าปรับที่ได้จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ SME ให้สามารถจัดทำรายงานคาร์บอนและดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อไป ทำให้กฎหมายใหม่นี้เป็นที่จับตาจากภาคเอกชนที่ต้องปฏิบัติตาม
แม้ทั้งหมดนี้ จะดูเหมือนเป็นการ “บังคับ” ให้เกิดการปรับตัวครั้งใหญ่สำหรับองค์กรต่าง ๆ ในไทย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ. นี้เป็นการกำกับควบคุมที่จำเป็น เพื่อเร่งลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วยกลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ดี ยังมีเวลาเตรียมตัวกันอีกพอสมควรก่อนที่จะบังคับใช้จริง โดยเริ่มใช้มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) เป็นจุดอ้างอิงก่อน เพื่อให้พร้อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไทยสู่เป้าหมาย Net Zero การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
วันนี้ ทุกคนกำลังเผชิญกับภาวะโลกเดือด ทำให้การลด ก๊าซเรือนกระจก กลายเป็นวาระเร่งด่วน นโยบายสิ่งแวดล้อมจะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของธุรกิจคือการติดตามกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือเป็นโจทย์สำคัญของภาคเอกชน กับภารกิจลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรเทาวิกฤตโลกร้อน ที่นับแต่นี้ไปจะต้องเตรียมรับมือให้ดี กับความเปลี่ยนแปลงนโยบายสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลต้องความรับผิดชอบต่อข้อตกลงปารีส ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องปรับตัว เพื่อจะยืนอยู่ให้ได้ท่ามกลางต้นทุนที่สูงขึ้น ต้องคอยติดตามดูกันไปว่า การดำเนินงานภาคธุรกิจ SME จะแตกต่างจากเดิมอย่างไร เมื่อไทยต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ให้ได้ ภายในอีก 41 ปีข้างหน้านี้
อ้างอิง